web analytics

ติดต่อเรา

ทีเส็บ จับมือเมืองพัทยา ชูมาตรฐาน TMVS ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ร่วมกับ เมืองพัทยา เร่งผลักดันสร้างมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standards (TMVS) เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองไมซ์ ยกระดับคุณภาพและบริการอุตสาหกรรมไมซ์ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะมาตรฐานสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ รองรับการขยายตัวทางธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์ EEC 

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่า พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทันสมัย หลากหลาย และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของภาคตะวันออกและประเทศไทย มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สถานประกอบการ โรงแรม ศูนย์การค้า ที่มีศักยภาพในการรองรับการประชุม สัมมนาขนาดใหญ่ การจัดการแสดงสินค้าและนิทรรศการ เมืองพัทยาจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็น “นครแห่งไมซ์” หรือ MICE City ตามแผนพัฒนาเมืองพัทยายุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวระดับโลก และมหานครศูนย์กลางภูมิภาคพัฒนา หรือ Innovation

ด้านนางอรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ทีเส็บ กล่าวว่า มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standards (TMVS) ได้รับการพัฒนาโดยอ้างอิงจากมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไมซ์ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและยกระดับการให้บริการตลอดจนคุณภาพของสถานที่จัดงานไมซ์ในประเทศไทย สำหรับภาคตะวันออกพัทยาเป็นเมืองที่มีผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS มากที่สุดจำนวน 26 แห่ง แบ่งเป็นประเภทห้องประชุม 25 แห่ง และประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า 1 แห่ง สามารถใช้เป็นจุดขายในการดึงการจัดงานไมซ์นานาชาติจากทั่วโลก เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีและบริการที่น่าประทับใจของไทย ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมให้การจัดงานไมซ์มีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

“พัทยาถือเป็นเมืองไมซ์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีสถานประกอบการด้านไมซ์ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์ประชุมเกิดขึ้นจำนวนมาก ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ในระยะยาวและยั่งยืน ทีเส็บจึงต้องเร่งผลักดันการสร้างมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้สถานประกอบการมีมาตรฐานในการรองรับการจัดงานไมซ์ได้อย่างมีคุณภาพทั้งในประเภทห้องประชุม ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า และประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ”

พร้อมกันนี้ ทีเส็บยังคงสานต่อการอบรมให้ความรู้ด้านการตรวจประเมินมาตรฐาน TMVS กับกลุ่มผู้ประกอบการไมซ์ในเมืองพัทยา และสำหรับสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS แล้ว ทีเส็บจะดำเนินการยกระดับการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความเชี่ยวชาญด้านการบริหารสถานที่จัดงานโดยมีหลักสูตร Venue Management Course (VMC) ซึ่งได้ทำการจัดอบรมรุ่นที่ 1 ไปแล้ว มีผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรนี้ทั้งหมด 30 คนในเมืองพัทยา และจะมีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 เพื่อให้เมืองพัทยามีบุคลากรที่มีคุณภาพในการบริหารสถานที่การจัดงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ขณะที่แผนการดำเนินงานเพื่อช่วยส่งเสริมการตลาดให้กับสถานประกอบการไมซ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน TMVS นั้น ทีเส็บจัดทำหนังสือ (directory) รวบรวมรายชื่อสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเพื่อสื่อสารไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงการนำหนังสือรายชื่อนี้ไปทำการตลาดในต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำป้ายตราสัญลักษณ์มาตรฐาน TMVS โดยทีเส็บได้จัดให้มีพิธีมอบตราสัญลักษณ์แก่สถานประกอบการที่ผ่านการรับรอง เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ การส่งเสริมการตลาด และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สถานประกอบการในเมืองพัทยา

นางสาวอรวิลาสินี สืบจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขาย โรงแรมเคป ดารา รีสอร์ท พัทยา กล่าวว่า การได้รับมาตรฐาน TMVS ใช้ยืนยันได้ว่า ห้องประชุมสัมมนานั้นมีความเหมาะสมตามมาตรฐานการจัดงานในระดับสากล เป็นการเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจไมซ์ในไทยให้กับกลุ่มนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขยายตลาดการจัดประชุมและการท่องเที่ยว เน้นตลาด เอเชีย  ยุโรป อเมริกา และโอเชียเนีย ตามลำดับ ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะเป็นจุดหมายของการจัดงานไมซ์ ทั้งในระดับประเทศและในระดับพื้นที่

“ทางรีสอร์ท มีความภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการตรวจสอบคัดเลือกและผ่านการรับรองตรา TMVS ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีเส็บ เพื่อตอบรับนโยบายของรัฐบาลไทยในการดึงกลุ่มนักเดินทางไมซ์จากตลาดต่างประเทศมายังประเทศไทย สำหรับห้องประชุมที่เคป ดารา รีสอร์ท พัทยา สามารถให้การบริการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีห้องประชุมที่สามารถรองรับได้ตั้งแต่ 10 – 700 คน มีอุปกรณ์ครบครันที่ใช้สำหรับสัมมนาแก่ผู้สัมมนา ทั้งระบบเสียง อุปกรณ์ รวมถึงทีมงานที่มีความเป็นมืออาชีพไว้คอยให้บริการ จุดเด่นของห้องประชุมเคป ดารา รีสอร์ท (Vela Grand Ballroom) มีขนาดห้องกว้างถึง 577 ตารางเมตร และ เพดานสูงถึง 7.2 เมตร เป็นห้องประชุมแบบ Day light ซึ่งจะได้รับแสงธรรมชาติและวิวทะเลที่สวยงามของอ่าวไทยในขณะที่ได้มาประชุมสัมมนา รวมถึงการเดินทางมาสัมมนาจากทั้งในและประเทศเพื่อนบ้านก็สะดวกสบายมากขึ้น เพราะมีเที่ยวบินที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองต่างๆ ในประเทศไทยไปยังไมซ์ซิตี้ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา (อู่ตะเภา) อีกด้วย

หลังจากที่เคป ดารา รีสอร์ท พัทยา ได้เรารับตราสัญลักษณ์ TMVS แล้ว จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ และกลุ่มนักธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานท่องเที่ยวประเทศต่างๆ เข้ามาใช้บริการมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าตราสัญลักษณ์ TMVS เป็นองค์ประกอบในการสร้างความมั่นใจและมีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการของลูกค้ามากขึ้น ในด้านงาน Flagship ที่มาจัดก็มีมากขึ้นเช่นกัน เช่น Qatar Airways (เปิดเส้นทางการบินมายังสนามบินอู่ตะเภา) เป็นต้น”

นางสาวมาลิสา ลุทซี  ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย รอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป และศูนย์ประชุมพีช กล่าวว่า มาตรฐาน TMVS เป็นสัญลักษณ์ที่การันตีสถานที่จัดงานว่าได้มาตรฐานสากล เหมาะสมกับการจัดงานประเภทต่าง ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจไมซ์ให้ประสบความสำเร็จก้าวไกลในระยะยาวและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก PEACH ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ แสดงถึงมาตรฐาน และการบริการที่โดดเด่นของศูนย์ประชุม รวมถึงการเป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ยอดนิยมในการจัดการประชุมชั้นนำระดับโลก รวมถึงยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถของทีมงานทุกคนที่เป็นมืออาชีพในการตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย และครบครัน ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพระดับสากลของศูนย์ประชุมมากยิ่งขึ้นเมื่อได้มีการรับรองด้วยมาตรฐาน TMVS

ศูนย์ประชุมพีชนอกจากมีความพร้อมในด้านสถานที่ระดับสากลด้วยมาตรฐาน TMVS  แล้ว เป็นที่รู้กันว่าปัจจุบันเมืองพัทยาได้รับการส่งเสริมให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ของ 3 จังหวัด ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณ Eastern Seaboard ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เรามีการพัฒนาไปพร้อมๆ กันแบบเต็มรูปแบบ กับธุรกิจทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นทางด้านขนส่ง คมนาคม อาหาร สายการบิน ที่พัก บุคคลากร และอื่นๆ เพื่อพร้อมในการสร้างรูปแบบการจัดงานใหม่ๆ ที่น่าประทับใจ ดึงดูดนักธุรกิจกลุ่มไมซ์ ที่จะเดินทางมาเมืองพัทยา

นางสาวมยุรี สมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปสวนนงนุช ฝ่ายธุรกิจไมซ์ กล่าวว่า นงนุช เทรดิชั่น เซ็นเตอร์ (NTH) เป็นศูนย์ประชุมอีกแห่งที่ได้ตราสัญลักษณ์มาตรฐาน TMVS ประเภทห้องประชุม (Meeting Room) ขนาดพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ห้อง ห้องละ 1,000 ตารางเมตร และมีห้องประชุมย่อยอีก 5 ห้อง ซึ่งได้รับมาตรฐานดังกล่าวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ กับการเปิดใช้งานในช่วงปลายปี 2560 จากสถิติการมาใช้บริการหลังจากที่ได้รับมาตรฐาน TMVS นี้ แสดงให้เห็นว่ามีลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากครึ่งปีแรก และมีจำนวนงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงครึ่งปีหลัง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

อีกทั้งในปีนี้ทางศูนย์ประชุมฯ ยังได้ยื่นขอมาตรฐาน TMVS พร้อมกันทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทห้องประชุม  สถานที่จัดงานแสดงสินค้า และสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องมีความพร้อมในทุกด้านจึงจะทำได้ ประกอบกับการวางนโยบายแผนงานในอนาคต ตลอดจนพนักงานของศูนย์ประชุมฯ สามารถดำเนินการตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งการได้มาของมาตรฐานทั้งสามนี้นับว่าเป็นความภูมิใจในทีมงาน และรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมในการทำโครงการดี ๆ ของทางทีเส็บ

“สำหรับในปี พ.ศ. 2562 ทีเส็บยังคงวางแผนการพัฒนาเมืองไมซ์พัทยาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับทางโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในการขับเคลื่อนไมซ์ผ่าน 6 โครงการไฮไลท์ ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาความพร้อมของพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถรองรับอุตสาหกรรมไมซ์แห่งใหม่ของประเทศไทย หรือ Eastern MICE Corridor 2.โครงการส่งเสริมการดึงงานประชุม สัมมนา งานแสดงนิทรรศการ และงานมหกรรมนานาชาติเข้ามาจัดในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0 3.โครงการจัดตั้งสถาบันไมซ์แห่งอาเซียน เพื่อเป็นศูนย์ประเมินมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ ศูนย์กระจายองค์ความรู้ และศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานไมซ์ 4.โครงการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ อันประกอบด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษา 5.โครงการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมไมซ์ และ 6.โครงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนำแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ของชุมชนมารองรับอุตสาหกรรมไมซ์” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ทีเส็บ กล่าวทิ้งท้าย

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *