บริติช เคานซิล และกระทรวงศึกษาธิการ ยกระดับการสอนภาษาอังกฤษของครูภาษาอังกฤษระดับประถมและมัธยมศึกษา กว่า 17,000 คนทั่วประเทศ ผ่านโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค หลังพบว่าครูภาษาอังกฤษระดับประถมและมัธยมศึกษาทั่วประเทศกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ มีทักษะตามกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษา (CEFR) อยู่ในระดับ A2 หรือต่ำกว่า ซึ่งเป็นทักษะภาษาอังกฤษระดับพื้นฐาน ประกอบกับรูปแบบการสอนเน้นท่องจำความถูกต้องของภาษามากกว่าการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารจริง โดยหลังจบโครงการ ครูภาษาอังกฤษกว่า 15,300 คน หรือ 90 เปอร์เซ็นต์ของครูที่เข้าร่วม มีความมั่นใจในการสอนภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่และการใช้ภาษาอังกฤษในห้องเรียนมากขึ้น พร้อมกันนี้วิทยาการชาวไทย หรือไทยมาสเตอร์เทรนเนอร์ จำนวน 30คนที่ถูกคัดเลือกจากครูที่มีศักยภาพและเข้าร่วมโครงการแต่แรกเริ่ม ได้ทำหน้าที่ขยายผลการอบรม ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับครู สร้างเป็นชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งทำงานใกล้ชิดกับศึกษานิเทศก์ในการ เข้าติดตามการสอน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกินคาดของโครงการฯ ในด้านการพัฒนาศักยภาพครูไทยอย่างยั่งยืน และนำไปใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบการวัดผลภาษาอังกฤษ เพื่อให้สอดคล้องกับการวัดระดับการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในลำดับต่อไป
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ประเด็นด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยเป็นหนึ่งในปัญหาระยะยาวของประเทศไทยที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง เนื่องจากการที่เด็กนักเรียนไทยเรียนเยอะแต่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้บุคลากรของไทยไม่สามารถเข้าแข่งขันในหลากหลายเวทีวัดระดับความสามารถระดับโลก โดยเมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว พบว่าครูภาษาอังกฤษระดับประถมและมัธยมศึกษาทั่วประเทศไทยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ มีทักษะตามกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษา (CEFR –Common European Framework of Reference for Languages) อยู่ในระดับ A2 หรือต่ำกว่า ซึ่งถือเป็นทักษะภาษาอังกฤษระดับพื้นฐาน หรือหากเทียบกับระดับภาษาอังกฤษจากการสอบไอเอลส์ (IELTS) อยู่ที่ประมาณระดับ 3.5 – 4 จาก 9 ระดับ ประกอบกับครูภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมดใช้การสอนแบบท่องจำ เน้นหลักความถูกต้องของภาษามากกว่าการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารจริง ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้แล้ว ยังส่งผลต่อทัศนคติแง่ลบของผู้เรียน
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (RETC – Regional English Training Centre) เมื่อมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และบริติช เคานซิล เพื่อยกระดับการสอนภาษาอังกฤษของคุณครูระดับประถมและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งหัวใจสำคัญของโครงการคือการปฏิวัติการสอนภาษาอังกฤษจากการสอนที่เน้นหลักความถูกต้องของภาษา อาทิ หลักไวยากรณ์ โครงสร้าง และคำศัพท์ ให้เปลี่ยนเป็นการสอนที่เน้นทักษะในการสื่อสาร สามารถฟัง พูด อ่าน และเขียนด้วยภาษาอังกฤษได้จริง
มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีครึ่งของโครงการ ได้จัดตั้งศูนย์การอบรม พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาคทั้งหมด 15 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำให้ครูภาษาอังกฤษกว่า 17,000 คน จากครูภาษาอังกฤษทั่วประเทศกว่า 40,000 คน ได้ผ่านการอบรมเพื่อเรียนรู้เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร รวมทั้งการสร้างศักยภาพวิทยากรชาวไทย หรือ ไทยมาสเตอร์เทรนเนอร์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้เข้าอบรมที่มีศักยภาพโดดเด่น จำนวน 30 คน ให้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรร่วมกับวิทยากรของ บริติช เคานซิลตลอดระยะเวลาโครงการ ช่วยขยายผลการอบรมและส่งต่อองค์ความรู้ให้กับครู ผู้อำนวยการโรงเรียน สร้างเป็นชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ตลอดจนกับศึกษานิเทศก์ในการเข้าติดตามการนำเทคนิคการสอนไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกินคาดของโครงการฯ ในด้านการพัฒนาศักยภาพครูไทยอย่างยั่งยืน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
จากผลสำรวจหลังตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปีครึ่ง พบว่าครูภาษาอังกฤษ 90 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าร่วมโครงการ หรือกว่า 15,300 คน มีความมั่นใจในการสอนภาษาอังกฤษและการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ครูภาษาอังกฤษจำนวน 72เปอร์เซ็นต์ ได้พัฒนาการวางแผนการสอน ครูภาษาอังกฤษจำนวน 94 เปอร์เซ็นต์ ได้พัฒนาการจัดการบทเรียน ครูภาษาอังกฤษจำนวน 93เปอร์เซ็นต์ได้พัฒนาทักษะความรู้วิชาภาษาอังกฤษ และครูภาษาอังกฤษ 72 เปอร์เซ็นต์ ได้พัฒนาการให้โจทย์และการตรวจเช็คความเข้าใจ
ความสำเร็จของโครงการพัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค เกิดจากความร่วมมือหลายภาคส่วน ตั้งแต่ผู้วางนโยบาย เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ศึกษานิเทศก์ ครูแกนนำ และอีกหลายส่วนงาน ที่ต่างช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านการสอนภาษาอังกฤษอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับลำดับต่อไปของการยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ได้มีการพิจารณาและปรับเปลี่ยนด้านการวัดผล ที่ในปัจจุบันการวัดผลยังคงมุ่งเน้นด้านความถูกต้องของภาษา ทำให้แม้จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการสอนภาษาอังกฤษในห้องเรียน แต่หากระบบการวัดผล ยังไม่เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการวัดผลระดับประเทศ ปัญหาก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในกระแสตอบรับที่สำคัญของโครงการฯ มร. แอนดรูว์ กล่าวทิ้งท้าย
นายสุทธิวัฒน์ สุทธิประภา ไทยมาสเตอร์เทรนเนอร์ และครูสอนภาษาอังกฤษระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนค้อวิทยาคม จังหวัดนครพนม กล่าวว่า การนำความรู้ที่ได้จากโครงการอบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาคไปประยุกต์ใช้ และปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้กลายเป็น สอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ผนวกกับการใช้เคล็ดลับการสอนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียน ทำให้เด็กนักเรียนกลับมามีทัศนคติที่ดีต่อวิชาภาษาอังกฤษ มีความกระตือรือร้นในการเข้าเรียน และให้ความร่วมมือกับกิจกรรมในห้องเรียน โดยหากการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และการใช้สื่อสารจริงได้อย่างแน่นอน
Comments
comments