web analytics

ติดต่อเรา

กลุ่ม KTIS มองอุตสาหกรรมเอทานอลโตต่อเนื่อง

ผู้บริหาร KTBE อุตสาหกรรมเอทานอลกลุ่ม KTIS ฉายภาพทิศทางเอทานอลในภูมิภาคเอเชียในงานสัมมนาระดับโลก ชี้ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการใช้ในประเทศไทยเหนือระดับ 4 ล้านลิตรต่อวันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เหตุภาวะเศรษฐกิจขยายตัวดี และนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศก็ส่งเสริมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและเป็นผลดีกับสภาวะแวดล้อมโลก เชื่อแม้การแข่งขันของผู้ผลิตจะสูงขึ้น แต่ก็จะไม่แข่งขันราคาจนต่ำกว่าทุน

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด หรือ KTBE บริษัทในกลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวในงาน World Sugar Expo & Conference 2018 ในหัวข้อ “แนวโน้มอุตสาหกรรมและราคาเอทานอลในเอเชีย” ว่า ปัจจุบันผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ที่สุดของโลกยังคงเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนประมาณ 58% รองลงมาคือบราซิล 26% ส่วนในภูมิภาคเอเชีย ประเทศผู้ผลิตเอทานอลหลักๆ คือ จีน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 3% ของโลก ไทย 2%และอินเดีย 1% ดังนั้น ทิศทางของตลาดเอทานอลในเอเชียก็จะดูจากประเทศจีน ไทย และอินเดียเป็นหลัก

สำหรับประเทศจีนนั้นมีเป้าหมายการผลิตเอทานอล 5,072 ล้านลิตรต่อปี ภายในปี 2563 จากปี 2560 ซึ่งผลิตได้ประมาณ 3,310 ล้านลิตร โดยภาคธุรกิจที่ใช้เอทานอลที่ผลิตในจีนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมและเคมีภัณฑ์ ส่วนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุด ต่างจากประเทศไทยซึ่งเกือบทั้งหมดใช้ในการผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ขับเคลื่อนยานพาหนะ ส่วนประเทศอินเดียแม้จะผลิตเอทานอลได้ปีละประมาณ1,060 ล้านลิตร แต่ก็ยังต้องนำเข้าเอทานอลบางส่วนเพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ

“ในส่วนของประเทศไทยนั้นผลิตเอทานอลได้ปีละประมาณ 1,500 ล้านลิตร โดยปี 2560 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยประมาณ 3.9 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปี 2559 ซึ่งมีปริมาณการใช้เฉลี่ย 3.66 ล้านลิตรต่อวัน และเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าปริมาณการใช้เอทานอลในประเทศไทยเพิ่งแตะระดับ 4 ล้านลิตรต่อวันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนธันวาคม 2560และต่อเนื่องมาถึงปี  2561 นี้ ส่วนใหญ่ก็จะมีปริมาณการใช้เกิน 4 ล้านลิตรต่อวัน โดยเดือนมิถุนายน 2561 มีปริมาณการใช้4.15 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งแสดงว่าความต้องการใช้ยังคงมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ในด้านแนวโน้มราคาเอทานอลนั้น ความต้องการใช้จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต ทั้งในโรงงานผลิตเครื่องดื่ม โรงงานอุตสาหกรรม  โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ และใช้ผสมน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศก็ส่งเสริมการใช้เอทานอลซึ่งผลิตจากพืชเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและลดมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล  แม้ว่าโรงงานผลิตเอทานอลมีเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตเอทานอลจะไม่แข่งขันด้านราคาจนต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *