กรมการขนส่งทางบก ปี 61 เก็บภาษีได้กว่า 8 พันล้านบาท
กรมการขนส่งทางบก เผย ปีงบประมาณ 2561 สามารถจัดเก็บภาษีรถประจำปีในเขตกรุงเทพมหานคร ได้กว่า 8,837 ล้านบาท ระบุ ช่องทางที่ประชาชนนิยมสูงสุด คือ สำนักงานของกรมการขนส่งทางบก รองลงมาคือช่องทาง “เลื่อนล้อ ต่อภาษี (Drive Thru for Tax)” และที่หน่วยเคลื่อนที่บริการรับชำระภาษีที่ห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์-อาทิตย์ ตามโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)” พร้อมมุ่งมั่นพัฒนางานทุกด้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการ
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกมุ่งมั่นพัฒนางานบริการ พร้อมยกระดับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาในการติดต่องานราชการ เพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถใช้บริการรับชำระภาษีรถประจำปีได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย เฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถจัดเก็บภาษีรถประจำปีในเขตกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 8,837,581,735.93 บาท โดยที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 5 เป็นช่องทางที่มีประชาชนมาใช้บริการสูงสุด จัดเก็บภาษีรถประจำปีได้ทั้งสิ้น 6,388,211,802.70 บาท คิดเป็นร้อยละ 72.28 รองลงมาเป็นช่องทาง“เลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax)”
ชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถ จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 1,211,605,634.75 บาท คิดเป็นร้อยละ 13.71 และที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในวันเสาร์ – อาทิตย์ทั้ง 14 สาขา ได้แก่สาขาลาดพร้าว รามอินทรา รัชดาภิเษก บางปะกอก สำโรง บางนา อ่อนนุช เพชรเกษม สุขาภิบาล3 บางบอน สุวินทวงศ์ แจ้งวัฒนะ และบางใหญ่ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ตามโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)” และศูนย์บริการร่วม G-point (เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลศาลายา, เซ็นทรัลเวสต์เกต) สามารถจัดเก็บภาษีรถได้ 717,388,524.30 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.12
ส่วนการให้บริการรับชำระภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์https://eservice.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบกซึ่งอำนวยความสะดวกเลือกชำระเงินผ่าน 3 ช่องทาง อาทิ ระบบ e-Banking ตัดเงินผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต หรือพิมพ์เคาน์เตอร์ธนาคาร/สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 261,266,542.77 บาท โดยสามารถรอรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้ทางไปรษณีย์ และที่ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ –ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.00 น. เป็นการให้บริการแบบ One Stop Serviceไม่เกิน 2 นาทีได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีทันที สามารถจัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 111,058,541.67 บาท
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังได้ร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่ทำการไปรษณีย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) รวมทั้งการให้บริการรับชำระภาษีรถประจำปีผ่านแอพพลิเคชั่นTruemoney Wallet และ แอพพลิเคชั่น mPAY ที่สามารถใช้ได้กับทุกเครือข่ายสัญญาณ สามารถจัดเก็บภาษีรถรวมทั้งสิ้น 148,050,689.74 บาท
ด้วยความมุ่งมั่นยกระดับงานบริการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้ตั้งแต่ ปี 2559-2561 กรมการขนส่งทางบกได้รับการรับรองมาตรฐานศูนย์ราชการสะดวกถึง 75 แห่ง โดยทุกแห่งมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกที่มีมาตรฐาน“สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย” และส่งมอบงานบริการด้วยใจเพื่อสร้างความประทับใจให้ประชาชน ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา เพิ่มการเข้าถึงการให้บริการ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือทางการบริการ อาทิ เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง เพื่อยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน, การใช้ระบบ QUEUELESS: คิวที่ไม่มีคิวรับคิวล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชั่น DLT SMART QUEUE, ดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอผ่านแอพพลิเคชั่น DLT eForm iFound