web analytics

ติดต่อเรา

ศูนย์ศิลปาชีพฯ จัดงานเปิดตัวหนังสือและแกลเลอรี่ “SACICT Craft Trend 2019”

จากความมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมสู่แนวทางพัฒนางานหัตถกรรมในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด  ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) นำโดย คุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ ขึ้นเป็นประธานในพิธีเปิดตัวหนังสือ SACICT Craft Trend 2019 พร้อมจัดแสดงนิทรรศการ โดยจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งได้รวบรวมเทรนด์และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่น่าสนใจ 4 เทรนด์หลัก ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและต่อยอดแนวคิดการผลิตผลงานหัตถกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีผู้คร่ำหวอดในวงการงานหัตถกรรมและการออกแบบ คุณแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และ คุณดำรง ลี้ไวโรจน์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร room มาร่วมบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์ถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของงาน Craft Trend ในอนาคต พร้อมทิศทางงานออกแบบจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อนำแนวคิดไปใช้ต่อยอดด้านการออกแบบได้อย่างตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้นซึ่งได้มีการจัดงานเปิดตัวหนังสือและแกลเลอรี่อย่างเป็นทางการ

คุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) กล่าวว่า “งานศิลปหัตถกรรมมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นสาขาที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกซึ่งงานศิลปหัตถกรรมได้เข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเทรนด์จึงเป็นแนวโน้มการพัฒนาของโลกและสะท้อนมาถึงงานศิลปหัตถกรรม กระบวนการผลิต,วัตถุดิบการนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือการนำมาใช้งานผลิตภัณฑ์ จึงเป็นที่มาของเทรนด์โดยทาง SACICT ดำเนินการมาปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว โดยจะพยายามให้เทรนด์เหล่านั้นเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานโดยนำมาใช้ประโยชน์เพื่อให้เป็นการพัฒนางานศิลปะหัตถกรรมและต่อยอดสืบไป ซึ่งเทรนด์ต่าง ๆ นั้นมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นทางเราจึงมีนโยบายการศึกษาวิจัยตลาดมากขึ้นทำ Trend Talk, Guru panel และศึกษาแนวโน้มของต่างประเทศอีกด้วย เรามีมุมมองในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ, นักการตลาด, ผู้ใช้งานผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับ SACICT ในแต่ละปีก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น ช่วยสะท้อนถึงแง่มุมต่างๆในการกำหนดเทรนด์ได้มากขึ้น”

สำหรับเทรนด์งานคราฟต์ได้ถูกถ่ายทอดจากในหนังสือสู่การจัดแสดงนิทรรศการใน Innovative Craft Gallery โดยแบ่งออกเป็น 4 เทรนด์ ได้แก่ Retelling the detailing, Tropical Dream, Righteous Crafts และ Surreal Hospitality ซึ่งได้รวบรวมชิ้นงานหัตถกรรมจากเหล่าดีไซน์เนอร์ไทยอันทรงคุณค่า ที่สืบทอดมาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านนำมาต่อยอดเป็นชิ้นงานอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น และตอบโจทย์ผู้บริโภคในปี 2019

โดยสำหรับเทรนด์แรกซึ่งเป็นหัวใจหลักของงาน คือ Retelling the Detailing การนำเสนอที่มาที่ไปของสินค้าหัตถกรรมด้วยการ “เล่าเรื่อง” ที่เน้นการตอกย้ำถึงคุณค่าผลิตภัณฑ์ นำเสนอเรื่องราวเชิงลึกในรายละเอียดซึ่งมีอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าประวัติศาสตร์ของแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือชุมชน ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมให้มีเรื่องราวเพิ่มขึ้น โดยในนิทรรศการคุณจะได้พบกับผลิตภัณฑ์น่าสนใจจากเทรนด์นี้อาทิ ม้านั่งไม้ ผลงาน Thinkk Studio และกลุ่มแกะสลักบ้านตองกาย จังหวัดเชียงใหม่ จากโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไทยนวัต-ศิลป์ SACICT เก้าอี้พลาสติกหุ้มเศษผ้าเก่าของ ภาสุรี วิรัชวิบูลย์กิจ หรือหูฟังตกแต่งลายเบญจรงค์ การนำบริบทของเบญจรงค์ในรูปแบบที่แปลกใหม่ ใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น โดยคุณกฤษณ์ พุฒพิมพ์ และคุณบุญญารัตน์ เบญจรงค์ จากโครงการพัฒนาอัตลักษณ์เบญจรงค์ไทย SACICT

ต่อด้วยเทรนด์ที่สอง ตอบโจทย์ชีวิตผู้คนเมืองใหญ่ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม กับ Tropical Dream คือ การนำความเป็นธรรมชาติ มาทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันด้วยการจำลองบรรยากาศความเขียวไว้ในบ้าน หรือที่ทำงานรวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยเติมความสดชื่นให้กับจิตวิญญาณของคนเมือง ผ่านการหยิบชิ้นงานของตกแต่งบ้านชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ใช้ “ไม้” และเส้นใยธรรมชาติเป็นวัสดุหลัก อาทิ เก้าอี้สตูลจากไม้ไผ่ขด เส้นสายจากธรรมชาติที่นำไปสู่รูปทรงและลวดลายที่โดดเด่น โดย Plural Designs และชุมชนงานไม้ไผ่ขด บ้านศรีปันครัว จังหวัดเชียงใหม่ จากโครงการไทยนวัตศิลป์ SACICT ร่วมด้วยการใช้รูปทรงรูปลักษณ์และลวดลายของธรรมชาติมาใช้ได้อย่างลงตัว

เทรนด์ที่สาม Righteous Crafts คือความพิถีพิถันในการพิจารณาว่าสินค้านั้น ๆ มีความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคมอย่างไรหรือไม่ เป็นการหันไปมอง “ที่มาที่ไป” ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของสินค้าแต่ละชิ้น การออกแบบที่นึกถึงวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม การไม่ใช้วัสดุแบบทิ้งขว้างจึงขยายวงกว้างในการออกแบบอย่างหยั่งลึก เห็นได้จากผลงานตะกร้าใส่ของ ผลิตภัณฑ์งานจักสานจากเนื้อไผ่และผิวไผ่ ออกแบบ: Plural Designs และกลุ่มจักสานไม้ไผ่ บ้านก๋ายน้อย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จากโครงการไทยนวัตศิลป์ SACICT ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ เรียกได้ว่าเป็นการคิดค้นกระบวนการผลิตที่ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม หรือเลือกใช้วัสดุทางเลือกรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ทดแทน รวมถึงการคืนประโยชน์ให้แก่ชุมชนหรือเจ้าของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นการคืนรายได้ให้ชุมชน และพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับเจ้าของภูมิปัญญาอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

สุดท้ายกับเทรนด์ที่เกี่ยวพันกับธุรกิจการท่องเที่ยว Surreal Hospitality คือ พูดถึงการออกแบบตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ ในรูปแบบที่จะสามารถสร้างความประทับใจจนเกิดการแชร์และบอกต่อได้ ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมส่วนหนึ่งจากกลุ่มเจเนอเรชั่น Y โดยเป็นกลุ่มที่น่าจับตาทั้งในฐานะผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่มีผลต่อธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมหาศาล ดังนั้นการออกแบบในพื้นที่เหล่านั้นจึงเป็นโอกาสให้เกิดงานคราฟต์พื้นถิ่นสุดวิจิตรที่จะได้รับการประยุกต์ให้ร่วมสมัยตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายนี้ได้เป็นอย่างดีมากขึ้น อย่างเช่น ผลงานการออกแบบของคุณกฤษณะลักษณ์ ภัครกุทวี หยิบเอาเสื่อกก มาออกแบบให้เป็นชิ้นส่วนประดับตกแต่งผนัง เพิ่มมูลค่าให้แก่สิ่งที่ดูคุ้นตาสะดุดใจ ประกอบกับการใช้วิธีออกแบบเป็นชิ้นส่วนโมดูลาร์ เพื่อให้ถอดประกอบปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ง่าย เป็นหนึ่งในผลงานจากการประกวด Innovative Craft Award 2018 ซึ่งได้นำมาจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้อีกด้วย

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ ณ Innovative Craft Gallery ชั้น 2 อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *