web analytics

ติดต่อเรา

เปิด “ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล” ด้วยภาพลักษณ์ทันสมัยก้าวไกลสู่โลกยุคใหม่

ในวาระครบรอบ 15 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) โดย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอับเดลิลาห์ อัล ฮุสนี เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อคโคประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดตัว ‘ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ (Tan Sri Dr.Surin Pitsuwan Research and Innovation Halal Science Laboratory)’ เพื่อรำลึกถึงคุณความดี และผู้เป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ โดยมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้มีความฉลาดปราดเปรื่องและรอบรู้ในศาสตร์หลากหลายด้าน นับเป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทยที่เป็นความภาคภูมิใจของมุสลิมไทยและนานาชาติ และด้วยวิสัยทัศน์ที่มีคุณค่ายิ่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลายปี 2542 ได้เขียนคำนิยมให้กับหนังสือ Halal-HACCP ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา

ด้วยคุณงามความดีและเกียรติคุณของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือแรงผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนสู่การสร้างเครือข่ายครบวงจรในระดับโลก ทั้งงานด้านวิทยาศาสตร์ สู่ภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ผนวกความเป็นศาสตร์และศิลปะอิสลามเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เอง ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ คือประจักษ์พยานอันทรงเกียรติในการรำลึกถึงคุณูปการต่อศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ด้วยศูนย์ฯ แห่งนี้มีความทันสมัยตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน เพราะเราพัฒนาและสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ถือเป็นเรื่องของ Start Up ที่เราสนใจมานานแล้วตั้งแต่ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จ โดยกลุ่มนักธุรกิจที่ญี่ปุ่นจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขายผลิตภัณฑ์ และสร้างแบรนด์ เลยหันมาสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งเรื่องของนวัตกรรมวิจัย จนกระทั่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารศูนย์ฯ ของเราได้จากไป เราเห็นว่าท่านให้ความสนับสนุนการทำงานของศูนย์ของเรามาโดยตลอด และหากเราจะสร้างพลังขับเคลื่อน และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์และนักนักวิจัยรุ่นใหม่ ก็จะเป็นประโยชน์ เลยขออนุญาตทางมหาวิทยาลัย ตั้งชื่อ ‘ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ เลยกลายเป็นที่มาของงานวันนี้”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ว่า “การใช้วิทยาศาสตร์มาสนับสนุนสู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งนี้ มีการเติบโตและมีบทบาทมาก จะเห็นได้ว่า 15 ปีศูนย์แห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอันดับ 1 ของโลก และในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ทำให้เรารำลึกถึง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ถือเป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง บทบาทของท่านเป็นคนการเมืองแบบฮาลาล เพราะฮาลาลไม่ใช่แค่อาหาร หรือผลิตภัณฑ์เท่านั้น หากยังเป็นการทำดี เป็นคนดี และทำดีต่อผู้อื่นอีกด้วย จึงถือได้ว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก ดังนั้นเหมาะสมที่สุดแล้ว ใช้ชื่อ ‘ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ โดยนำมาแปลเปลี่ยนเป็นรูปธรรมที่จะทำให้ชื่อของท่านได้ถูกจารึกตลอดไป”

ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลนี้เรียกกันสั้น ๆ ว่า PS Halal Lab ตั้งอยู่บนชั้น 13 ของอาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศวฮ.มีที่ทำการอยู่บนชั้น 11, 12, 13 มีพื้นที่ใช้สอยรวม 3,000 ตารางเมตรจากทั้งหมด 4,400 ตารางเมตร ส่วนของ PS Halal Lab ตั้งอยู่บนชั้นที่ 13 ของอาคารมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 400 ตารางเมตร

“ภายในประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีโภชนาการ จะพัฒนาเรื่องนวัตกรรมโดยเฉพาะเรื่องอาหาร โดยนำเอาสมุนไพรที่นิยมในโลกมุสลิมมาพัฒนาร่วมกับอาหารไทย จนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งตอนนี้กำลังทดสอบตลาดอยู่ ห้องปฏิบัติการวิจัยนาโนวิทยาและคอสเมติกส์  เราเชื่อว่าในอนาคตอีกไม่ไกลเรื่องของฮาลาลจะก้าวไปสู่เรื่องของนาโนโมเลกุล ซึ่งเป็นเรื่องของศาสตร์ใหม่ ต่อไปเวลาเรากินอาหารบางทีมันจะเข้าไปดูดซึมแล้วกลายเป็นสารอาหารไปช่วยแก้ปัญหาในจุดที่เราเป็นอยู่ ในกรณีอย่างนี้ต้องอาศัยนาโนโพลิเมอร์ และ ห้องปฏิบัติการวิจัยชีววิทยาโมเลกุล เป็นเรื่องภาวะภูมิคุ้มกันเทคโนโลยีทางชีววิทยา ซึ่งตรงนี้เรากำลังพัฒนางานด้านนี้อยู่” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าว

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *