web analytics

ติดต่อเรา

โรคไตตรวจพบเร็วรักษาได้ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ

ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 100,000 คน ที่ต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางช่องท้อง  และมีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 20,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 15-20 ต่อปี หากไม่รีบแก้ไข คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสะสมเป็นกว่า 2 แสนราย แพทย์จึงชี้แนะโรคไตตรวจพบเร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันโรคเบื้องต้นที่นำมาซึ่งโรคไต เช่น เบาหวาน ความดัน ควบคุมการกินอาหารรสเค็มหรือรสจัดมากเกินไป รวมถึงหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเองที่ไม่ได้ผ่านการรับรองว่าปลอดภัยต่อไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา…   

นพ.กำธร ลีลามะลิ หัวหน้าศูนย์ไตเทียม นายแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า โรคไตโดยทั่วไปจะมี 2 ประเภทคือ แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง

  1. โรคไตวายเฉียบพลันเป็นภาวะการศูนย์เสียการทำงานอย่างรวดเร็ว เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะช็อครุนแรง การเสียเลือดในปริมาณมาก การได้รับสารพิษที่มีผลต่อไต เป็นต้น แต่หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ไตก็สามารถกลับมาทำงานได้ภายใน 1 เดือน
  2. โรคไตแบบเรื้อรัง เป็นภาวะการทำลายไตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยจะไม่แสดงอาการในระยะแรกๆ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยคือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคทางเดินปัสสาวะอุดตัน และโรคไตอักเสบ โดยไตเรื้อรังแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ซึ่งส่วนมากจะมาแสดงอาการในระยะท้ายๆ การวินิจฉัยโรคไตนั้น ปัจจุบันวินิจฉัยจาก อาการและโรคประจำตัวของผู้ป่วย การตรวจจากห้องปฏิบัติการ ทั้งปัสสาวะและเลือด และการอัลตร้าซาวน์ไตว่าผิดปกติหรือไม่ หากพบว่าเป็นโรคไต แพทย์จะหาสาเหตุว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่น จากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทางเดินปัสสาวะอุดตัน หรือไตอักเสบ ถ้าทราบสาเหตุและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรก โรคไตที่เป็นอยู่ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าตรวจพบในระยะที่เป็นมากแล้วเช่น โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 การรักษาให้หายขาดจะยาก แต่จะช่วยชะลอการเสื่อมของไต ลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องล้างไตได้ โดยการคุมน้ำและอาหาร หลีกเลี่ยงการกินยาที่มีผลทำให้ไตเสื่อม เช่น ยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูกบางชนิด รวมทั้งยาที่ไม่ได้มีการพิสูจน์หรือรับรองว่าปลอดภัยกับไต เช่นยาสมุนไพรต่างๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้ว่ามีความปลอดภัยต่อไตหรือไม่

ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ในระยะที่ 5 ที่ต้องทำการรักษาโดยการฟอกเลือดผ่านเครื่องฟอกไตเทียมนั้น จะต้องมีการทำเส้นฟอกเลือด เพื่อใช้ในการนำเลือดออกจากร่างกายของผู้ป่วยไปยังเครื่องฟอกเลือดเพื่อกำจัดพิษต่างๆ และนำเลือดที่ฟอกสะอาดแล้วกลับคืนเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยผ่านทางเส้นฟอกเลือดนี้  ข้อเสียของการรักษาด้วยวิธีนี้คือเส้นฟอกเลือดอาจเกิดการตีบและอุดตันได้ ซึ่งทาง รพ.ราชวิถี มีแพทย์ผู้ชำนาญการสามารถแก้ไขเส้นฟอกเลือดที่ตีบหรืออุดตันให้สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ช่วยให้คนไข้ไม่ต้องไปทำเส้นใหม่ หรือลดการใส่สายที่คอได้

การรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ดีที่สุด คือการปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้คนไข้กลับมามีใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด และอยู่ได้ยาวนานที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างไตทางช่องท้อง เพียงแต่ปัจจุบันมีการบริจาคไตค่อนข้างน้อย ในอนาคตถ้ามีการบริจาคไตมากขึ้น คนไข้ที่ล้างไตอยู่ก็มีโอกาสที่ได้รับการปลูกถ่ายไตมากขึ้น แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยากดภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้ร่างกายต่อต้านเนื้อไตของผู้บริจาค

ปัจจุบันโรคไตป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงให้ดี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางตัวที่มีผลเสียต่อไต เช่น การใช้ยาแก้ปวด แก้อักเสบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน  หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องได้มาตรฐาน แต่ถ้าเกิดโรคไตขึ้นแล้ว โรคไตหลายอย่างสามารถรักษาให้หายได้ ถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกๆ ซึ่งมักจะตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองโรคไตในการตรวจสุขภาพประจำปี

“โรงพยาบาลราชวิถี ได้รักษาผู้ป่วยโรคไตมากว่า 50 ปี มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 12,000 คนต่อปี โดยปัจจุบันยังมีผู้ป่วยที่ทำการรักษาที่ศูนย์ไตเทียมโรงพยาบาลราชวิถีกว่า 1,500 คนต่อปี เนื่องจาก รพ.ราชวิถี มีพื้นที่ที่จำกัด ทำให้ผู้ป่วยโรคไตที่เข้ามารับการรักษาที่ รพ.ราชวิถี ต้องรอรับการรักษาเป็นเวลานาน และปัจจุบันเทคโนโลยี่สำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรคไตมีการพัฒนาไปมาก ดังนั้นศูนย์โรคไตครบวงจร ที่อาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี แห่งใหม่จึงถูกออกแบบเพื่อตอบปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย 5 หน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยคือ (1) คลินิกโรคไต (Kidney Disease Clinic) ที่ทำการวินิจฉัย รักษาโรคไตให้หาย หรือ ชะลอความเสื่อมในกรณีที่รักษาไม่หายขาด (2) คลินิกล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis Clinic) สำหรับผู้ป่วยไตวาย  ที่ต้องรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องซึ่งเป็นการรักษาด้วยตนเองที่บ้านเป็นหลัก จึงต้องมีทีมที่ออกเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านและดูแลให้คำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง (3) หน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis Unit) ที่ทำการฟอกเลือดให้กับผู้ป่วยไตวายทั้งแบบวิกฤติ เฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง (4) คลินิกเส้นฟอกเลือด (Vascular Access Clinic) ที่ทำการเฝ้าติดตามประสิทธิภาพของเส้นฟอกเลือดและสายฟอกเลือด สำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อดูแลรักษาเส้นฟอกเลือดให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยาวนานที่สุด และ (5) ศูนย์ปลูกถ่ายไต ให้บริการครบวงจรตั้งแต่ก่อนปลูกถ่ายไต และดูแลต่อเนื่องหลังปลูกถ่ายไต ศูนย์โรคไตครบวงจรนี้ จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ลดระยะเวลาการรอคอย และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งหน่วยงานต่างๆที่กล่าวมานี้ ยังขาดแคลนอุปกรณ์ และต้องการรับการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา”  นพ.กำธร กล่าวปิดท้าย

ล่าสุดทางมูลนิธิ รพ.ราชวิถี จะจัดงานโครงการ “เทศน์มหาชาติ เพื่ออาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี” ขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ทางด้านสาธารณสุขเพื่อประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนานฯ

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถ ร่วมปันน้ำใจสมทบทุนสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ โดยร่วมเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ต่าง ๆ หรือร่วมทำบุญตามศรัทธา และร่วมฟังเทศน์มหาชาติ เวชสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ (1,000 พระคาถา) กับโครงการ “เทศน์มหาชาติ เพื่ออาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี ถวายเป็นพระราชกุศลฯ” โดยร่วมบริจาคได้ที่ “ศูนย์การแพทย์ราชวิถี ในมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” ธนาคารไทยพาณิชย์ หมายเลขบัญชี 051-2-69056-1หรือ สอบถามโทร.0-2354-7997-9 ต่อ 101, 104 และ 109 หรือที่เว็บไซต์ http://www.rajavithihospitalfoundation.org

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *