web analytics

ติดต่อเรา

“สยาม ไวเนอรี่” ร่วมฟื้นฟูพื้นที่ป่ากุยบุรี

กลุ่มบริษัทสยาม ไวเนอรี่ ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนบูรณาการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน น้อมนำพระราชดำริรัชกาลที่ 9 ดำเนินโครงการฟื้นฟูผืนป่ากุยบุรี พัฒนาแหล่งอาหารสัตว์ป่า และสร้างความปลอดภัยให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล จนถูกยกให้เป็น “กุยบุรีโมเดล” ต้นแบบการจัดการปัญหาคนกับช้างและป่าระดับประเทศและนานาชาติ

ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติกุยบุรีคือหนึ่งในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ เต็มไปด้วยความหลากหลายทางระบบนิเวศน์และชีวภาพ ทว่าหากย้อนไปกว่า 20 ปีก่อน ภาพของผืนป่ากุยบุรีแตกต่างจากตอนนี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมีผู้บุกรุกแผ้วถางป่าอันเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าเพื่อทำไร่สัปปะรดเป็นจำนวนมาก เมื่อช้างออกจากป่าลงมากินสัปปะรด จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลางปี พ.ศ.2540 พบช้างป่า 2 ตัวเสียชีวิตเพราะได้รับสารพิษจากไร่สับปะรด และในเวลาไม่ห่างกันนักช้างป่าอีก 1 ตัวถูกยิงเสียชีวิต เนื่องจากเข้าไปกินสับปะรดที่ราษฎรปลูกไว้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานั้น ยากเหลือเกินที่จะเชื่อได้ว่าวันหนึ่งคนกับช้างและป่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

 

กระทั่งความทราบถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระองค์จึงมีพระราชดำริให้นำผืนป่ากุยบุรีกลับคืนมาเป็น โครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เมื่อวันที่19 มิถุนายน 2540 ด้วยเหตุนี้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โดยมีกิจกรรมทั้งด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การปลูกพืชฟื้นฟูสภาพป่า สร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน สร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ทำโป่งเทียม ทำแนวกันไฟ และกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาอาชีพของคนในชุมชน ได้แก่ การสร้างบ่อน้ำในไร่นา ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก ส่งเสริมการทำและใช้ปุ๋ยหมัก เป็นต้น

 

กลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไวน์และเครื่องดื่มของไทย ซึ่งยึดมั่นในหลักความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนตระหนักถึงปัญหาของผืนป่าและความสมดุลของธรรมชาติอย่างเสมอมานับตั้งแต่ก่อตั้ง โดยมุ่งมั่นกับการพัฒนาและช่วยเหลือสังคมผ่านโครงการและงานอาสาสมัครต่างๆ ด้วยความเชื่อว่า หน้าที่ที่สำคัญที่สุดขององค์กรคือการดูแลผืนดินที่เพาะปลูกเป็นอย่างดี ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นทำงานอย่างหนักในการอนุรักษ์ผืนป่าของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและผู้มีส่วนร่วมในโครงการตามพระราชดำริ จึงเป็นองค์กรเอกชนรายแรกที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่อย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูสภาพป่า พัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มแหล่งอาหารสัตว์เพื่อให้มีแหล่งอาหารอย่างเพียงพอสำหรับสัตว์ป่า ดูแลเรื่องความปลอดภัยของสัตว์ป่า และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยน้อมนำพระราชดำรัสในรัชกาลที่ 9 เรื่องคนกับช้าง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ..2542 ความว่า “…ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างแหล่งอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า…” มาเป็นแนวทางในการปฎิบัติ

 

คุณชยพล ศรศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารความรับผิดชอบต่อสังคม เผยว่า “ปัจจุบันกลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่ ได้ร่วมฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่าโดยรับผิดชอบดูแลแปลงหญ้าจำนวน 300 ไร่ ตลอดจนฝายน้ำกึ่งถาวร โป่งเทียม และแหล่งน้ำในแปลงหญ้า เพื่อให้สัตว์ป่าได้สับเปลี่ยนหมุนเวียนหากิน ทั้งยังสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโดยมอบอุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งดูแลความปลอดภัยให้กับสัตว์ป่าโดยการมอบรางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าที่ ที่จับกุมผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่า ซึ่งทำให้มีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงทำให้ระบบนิเวศน์ที่เกื้อกูลกันกลับมาคงความสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งยังช่วยให้ชาวบ้านโดยรอบมีรายได้จากการท่องเที่ยว ภาพของความขัดแย้งในอดีตจึงหายไป นอกจากนี้เรายังเข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่าที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อบูรณาการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ทั้งนี้กลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่ ได้เริ่มดำเนินงานโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูผืนป่ากุยบุรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 โดยร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และชุมชน จัดตั้งภาคีเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรีหรือPOWER of Kuiburi (POWER: Public Private Partnership Offering for Wildlife and Ecosystem Resilience)และทำบันทึกข้อตกลง พันธสัญญาเทือกเขาตะนาวศรี” ยุติการล่าสัตว์ป่า เพื่อสนองพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการสร้างแนวทางและการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่า ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ส่งผลให้การอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ถูกยกให้เป็นต้นแบบของการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างทั้งในระดับประเทศและนานาชาติภายใต้ชื่อ “กุยบุรีโมเดล” ที่หลายประเทศให้ความสนใจเข้ามาศึกษาดูงาน

 “ตลอด 9 ปีที่เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู วันนี้ผืนป่ากุยบุรีกว่า 1,100 ตร.กมก็ฟื้นคืนกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า จากที่เคยตระหนกว่าสัตว์ป่าจำนวนมากอยู่ในภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันกลับพบช้างป่าในกุยบุรีไม่น้อยกว่า 300 ตัว กระทิงไม่ต่ำกว่า 250 ตัว และยังสำรวจพบสัตว์ป่าสงวนหายากของประเทศไทยถึง 4 ชนิด ได้แก่ สมเสร็จ แมวลายหินอ่อน เลียงผา และเก้งหม้อ รวมถึงสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลกอย่างวัวแดง เสือโคร่ง เสือดาว และเสือดำ ซึ่งสามารถออกมาเดินเล่น กินหญ้า กินน้ำ ได้อย่างปลอดภัย ตามวิถีธรรมชาติ อีกทั้งนักท่องเที่ยวยังสามารถเข้าไปดูช้าง กระทิง วัวแดง ได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังพบว่ามี ‘กระทิงแดง’ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างกระทิงและวัวแดงให้เห็นด้วย โดยสังเกตได้จากการที่มีรูปร่างเหมือนกระทิงแต่มีลายใบโพธิ์สีขาวที่ก้นเหมือนวัวแดง ซึ่งนับว่าเป็นสัตว์หายากอีกชนิดหนึ่งที่พบในผืนป่าแห่งนี้

ทุกวันนี้อุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้รับการยกย่องว่าเป็นอุทยานต้นแบบในการอนุรักษ์ผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก จำนวนสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่รบกวนซึ่งกันและกัน นำมาซึ่งความภูมิใจในฐานะองค์กรเอกชนรายแรกที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าแห่งนี้ และความสำเร็จดังกล่าวนับเป็นกำลังใจสำคัญให้กลุ่มบริษัทสยาม ไวเนอรี่ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *