สิทธิผล วีแคร์ ปลูกจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ คืนชีวิตแด่ป่า
เพราะน้ำคือชีวิต ป่าและสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอย่าง “น้ำ” ในการหล่อเลี้ยงและดำรงชีพ กลุ่มสิทธิผล วีแคร์ จึงตระหนักถึงปัญหาและได้เดินหน้าสานต่อโครงการอนุรักษ์น้ำและพิทักษ์สัตว์ป่า ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยจัดกิจกรรม “ทำฝาย สร้างโป่ง คืนชีวา แด่ป่าของเรา” เพื่อปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติ และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม นำโดย วิชัย กิ่งชา ผู้อำนวยการโครงการกลุ่มสิทธิผล วีแคร์ ร่วมกับเหล่าแฟนเพจและพนักงานจิตอาสาอีกกว่า 60 ชีวิต ที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำ ทำโป่งเทียม และปลูกป่าด้วยการยิงเมล็ดพันธุ์ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าวังครก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี
วิชัย กิ่งชา กล่าวว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นแรงผลักดันให้กลุ่มสิทธิผล วีแคร์ จัดตั้งโครงการ “อนุรักษ์น้ำและพิทักษ์สัตว์ป่า” ขึ้นในปี 2555 เพื่อตอบแทนสังคมด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมเป็นหนึ่งพลังในการเข้าไปช่วยป้องกัน ฟื้นฟู และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ โดยได้นำทีมพนักงาน เยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วม เช่น กิจกรรมทำฝาย สร้างโป่งเทียม, ปลูกป่าชายเลน และปลูกปะการังเทียม เป็นต้น ในครั้งนี้มีโอกาสเดินทางมาทำฝายกันที่หน่วยพิทักษ์ป่าวังครก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งแม้ที่นี่จะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ อีกจำนวนมาก เนื่องจากเคยเป็นพื้นที่ที่ประสบวิกฤตภัยแล้ง และเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำจนกระทบความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า ที่สำคัญยังไม่เคยมีบุคคลภายนอกให้การสนับสนุนร่วมทำฝาย ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ และยังได้มอบสิ่งของจำเป็นเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง และยารักษาโรค ซึ่งทางกลุ่มสิทธิผล วีแคร์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง”
เมื่อเดินทางถึงที่หมาย ก่อนเริ่มลงมือทำกิจกรรมเพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ก็ได้รับเกียรติจาก วายุกฤช ศรีสุนนท์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าวังครก และเจ้าหน้าที่ท่านอื่น ๆ ที่มารอให้การต้อนรับและให้ความรู้บอกเล่าถึงประโยชน์ของการทำฝายชะลอน้ำว่านอกจากจะเป็นการฟื้นฟูแหล่งน้ำที่ดี เพิ่มความชุ่มชื้นคืนสู่ผืนป่าแล้ว ยังช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน การเกิดไฟป่า และทำให้สัตว์ป่ามีแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งในการทำฝายแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีการสำรวจสภาพพื้นที่อย่างละเอียด และเลือกรูปแบบของฝายให้เหมาะสมกับภูมิประเทศนั้นๆ โดยในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 60 คน ก็ได้รวมพลังสามัคคีสร้างฝายไม้ไผ่ เป็นการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ก้อนหิน หรือ ท่อนไม้ มากั้นลำธารในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ให้สามารถกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยจัดการดินและน้ำตามธรรมชาติได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
ปิดท้ายด้วยกิจกรรมสร้างโป่งเทียม หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือการสร้างแหล่งแร่ธาตุแหล่งอาหารให้แก่สัตว์ป่าโดยใช้เกลือสินเธาว์ ซึ่งถึงแม้จะเป็นกิจกรรมส่งท้ายก่อนต้องอำลาความงดงามของธรรมชาติที่หน่วยพิทักษ์ป่าวังครก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีแห่งนี้ แต่เหล่าอาสาสมัครทุกคนก็ยังคงเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความมุ่งมั่นในการสร้างโป่งเทียมเพื่อเป็นการทดแทน “ดินโป่ง” แหล่งแร่ธาตุสำคัญตามธรรมชาติที่เริ่มมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์กินพืช อย่างเช่น ช้างป่า, กวาง, กระทิง ส่งผลให้สัตว์ส่วนใหญ่ขาดแร่ธาตุและมีร่างกายไม่แข็งแรง ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาจำนวนสัตว์ป่า และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้คงไว้ การรณรงค์สร้างโป่งเทียมจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนไทยไม่ควรมองข้าม