ผลดำเนินงาน บสย. ไตรมาส 1 สดใส หนุนค้ำฯ SMEs 2.3 หมื่นล้านบาท
นางนิภารัตน์ พิสิฐพิทยเสรี รักษาการแทนผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ไตรมาส 1/2561 (1 ม.ค. -31 มี.ค.) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับ 17 ธนาคารพันธมิตร วงเงิน 23,313 ล้านบาท จำนวนหนังสือค้ำประกัน 31,733 ฉบับ (LG) เป็นไปตามเป้าหมายและตามแผนวิสาหกิจ
สำหรับผลดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ผ่านกิจกรรมเชิงรุกจากโครงการต่าง ๆ ตามแผนงาน บสย. รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ อาทิ การดำเนินโครงการ “มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนแฟร์” 11 จังหวัด ให้คำปรึกษาทางการเงินกับผู้ประกอบการ SMEs และกิจกรรมแมชชิ่งระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันการเงิน, การเปิดเวทีสัมมนาส่งเสริมความรู้ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร และการประสานความร่วมมือระหว่าง บสย. กับสถาบันการเงินพันธมิตร ผลักดันโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ผ่านสินเชื่อของธนาคารประเภทต่าง ๆ ที่ช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อของแต่ละธนาคารมากขึ้น
ผลดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนว่ายังมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากต้องการเข้าถึงสินเชื่อ ผ่านระบบธนาคาร เพื่อนำไปเป็นทุนต่อยอดธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียนและขยายกิจการ จากตัวเลขการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ สูงสุด 5 หมวดธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการ 5,442 ล้านบาท สัดส่วน 23% 2.ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 2,711 ล้านบาท สัดส่วน 11% 3.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2,310 ล้านบาท สัดส่วน 9% 4.ธุรกิจเกษตรกรรม 2,163 ล้านบาท สัดส่วน 9% 5.ธุรกิจเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องจักร 2,020 ล้านบาท สัดส่วน 8%
บสย. มั่นใจว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 ได้สะท้อนถึงความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพันธมิตร โดยมีบสย. ซึ่งเป็นหน่วยงานค้ำประกันสินเชื่อเป็นกลไกสำคัญ ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเต็มที่ ในส่วนของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 บสย.และ 17 ธนาคารพันธมิตร ได้ร่วมกันผลักดันโครงการเพื่อช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งขณะนี้ยังมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ รองรับประมาณ 26,000 ล้านบาท
ผลักดัน 3 โครงการใหม่
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ที่ประสบความสำเร็จและช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้มากคือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 2 วงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. จำนวน 13,500 ล้านบาท ขณะนี้เหลือวงเงินให้ความช่วยเหลืออีกเพียง 600 ล้านบาท เท่านั้น (ตัวเลข ณ 23 เมษายน 2561) สำหรับแผนงานในไตรมาส 2 บสย. ได้เตรียมนำเสนอโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ ประกอบด้วยโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS7 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ บสย. เรียบร้อย และอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อกระทรวงการคลัง
สำหรับความคืบหน้าของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ NON BANK ที่ผ่านมา บสย. ได้ร่วมหารือกับธนาคารพันธมิตร โดยมี 2 ธนาคารให้ความสนใจร่วมโครงการ ทั้งนี้ บสย. คาดว่าทั้ง 3 โครงการใหม่นี้ จะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 3/2561
รับมือ ดิจิทัล แบงก์กิ้ง อนุมัติค้ำประกันเร็ว ภายใน 1 วัน
นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานสนับสนุน เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการค้ำประกันสินเชื่อ และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยแผนงานปีนี้จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รองรับแผนงานการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อให้เร็วขึ้นจาก 3 วัน เป็น 1 วันทำการ โดยเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย อนุมัติการออกหนังสือค้ำประกันสินเชื่อให้เร็วขึ้น ภายใน 1 วัน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ล่าสุดของ บสย. คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเร็ว ๆ นี้