สิงคโปร์ เน้นพลังงานทดแทน “พาณิชย์” ชี้ช่องนักลงทุนไทย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแนะผู้ประกอบการไทยฉวยจังหวะสิงคโปร์บูมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ดันส่งออกอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตหรือเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าในสิงคโปร์ หลังสิงคโปร์ มีนโยบายชัดเจน ตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 1 ใน 5 ของพลังงานที่ชาวสิงคโปร์ ใช้ทั้งหมด
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์ ถึงแนวโน้มการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนในสิงคโปร์ โดยพบว่าสิงคโปร์ได้เดินหน้าผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการพลังงานทดแทนของไทยที่จะส่งออกอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
จากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือการเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าในสิงคโปร์ เพราะนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ได้ส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของต่างชาติด้วย
“ทั้งนี้ ในปี 2563 สิงคโปร์ได้ตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ที่ระดับ 350เมกะวัตต์ และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 ที่ผ่านมา สิงคโปร์สามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ทั้งหมด 145 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ชาวสิงคโปร์ จะสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 1 ใน 5 ของพลังงานที่ชาวสิงคโปร์ใช้ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันสิงคโปร์ใช้พลังงานเดือนละประมาณ 7,000 เมกะวัตต์”
ขณะเดียวกัน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐบาลสิงคโปร์ได้มอบทุนวิจัยกว่า 6.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อดำเนินการและมอบเงินสนับสนุนกว่า17.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ในการพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานในระดับสำหรับสาธารณูปโภคในสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในสิงคโปร์ ก็มีอุปสรรค โดยอาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากสิงคโปร์ซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่เชื่อมโยงกับราคาน้ำมันโลก
ปัจจุบัน Green หรือ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” กำลังเป็นที่นิยมในสิงคโปร์ และในปี2562 สิงคโปร์จะขึ้นภาษีคาร์บอนมีอัตราอยู่ระหว่าง 10-20 เหรียญสิงคโปร์ต่อตัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขณะนี้ การผลิตไฟฟ้าในสิงคโปร์ 95% เป็นการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และผู้ประกอบการด้านพลังงานในสิงคโปร์หันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น เช่น บริษัท Sembcorp Industries
ได้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้แผง Solar ติดไว้ที่สนามบิน Changi สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมี บริษัท ST Aerospace บริษัท Senoko Energy และบริษัท Sunseap Group เป็นต้น