บ๊อช เชื่อมั่นการขับเคลื่อนแห่งอนาคต ต้องมีคนเป็นจุดศูนย์กลาง
ความปลอดภัยไร้กังวล ปลอดอุบัติเหตุ และไร้มลภาวะ: คุณสมบัติเหล่านี้เป็นการมองไปยังอนาคตเกี่ยวกับการขับเคลื่อนในเมือง ที่ซึ่งผู้คนและสินค้าสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี เช่นเดียวกับตัวเมืองที่สามารถวางระบบการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลจากรายงาน World Cities ปี 2559 โดยสหประชาชาติ พบว่า มีประชากรราวร้อยละ 54.4 ของประชากรทั้งโลก หรือคิดเป็นประมาณ 4 พันล้านคน อาศัยอยู่ในเขตเมือง คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 จำนวนผู้อยู่อาศัยในเมืองต่างๆ ทั่วโลก จะมีไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านคน โดยในอาเซียนเพียงภูมิภาคเดียว คาดว่าจะมีผู้คนกว่า 90 ล้านคน ย้ายถิ่นฐานไปยังเมืองต่างๆ โดยมีจำนวนประชากรสูงวัยประมาณ 57 ล้านคน และตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มร. มาร์ติน เฮยส์ ประธานภูมิภาคบ๊อชอาเซียน กล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดทางธุรกิจ EU-ASEAN ที่จัดขึ้นในสิงคโปร์ว่า “บ๊อชเชื่อว่า ในการรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น โมเดลการขับเคลื่อนทางเลือกต่างๆ สำหรับเมือง มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน สามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความแตกต่างที่จะช่วยพัฒนาภูมิทัศน์แห่งการขับเคลื่อนในเมืองแห่งอนาคตได้”
วิสัยทัศน์ของบ๊อชเกี่ยวกับการขับเคลื่อนในเมืองแห่งอนาคต ดำรงอยู่ด้วยความเชื่อที่ว่า ระบบและโซลูชั่นส์ต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก โดยต้องสามารถตอบสนองความต้องการและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และสร้างแนวทางที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ดีขึ้นให้แก่สภาพแวดล้อมแห่งการขับเคลื่อนได้
หนึ่งในปัจจัยที่ขัดขวางความสามารถในการผลิตและความก้าวหน้าทางธุรกิจคือความแออัด จำนวนผู้อยู่อาศัยร่วม 650 ล้านคนของประเทศในกลุ่มอาเซียน คิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 8.6 ของประชากรทั้งโลก ตามมาด้วยจำนวนยานพาหนะสองล้อและสี่ล้อรวมกันประมาณ 12.8 ล้านคันในปี 2560 เพียงปีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตลาดยานยนต์สองล้อที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โครงสร้างขั้นพื้นฐานของการจราจรไม่สามารถรองรับได้ไหว โดยส่วนใหญ่ ยานพาหนะส่วนตัวได้กลายเป็นรูปแบบเดียวในการสัญจรของผู้คนไปแล้ว
แนวทางที่เน้นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของบ๊อชเกี่ยวกับเทคโนโลยีแห่งการขับเคลื่อนแบบไร้กังวล ช่วยให้ประชากรเมืองมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการเดินทางของตัวเอง ไม่ว่าจะโดยยานพาหนะสี่ล้อหรือสองล้อ การขนส่งระบบรางหรือการใช้รถร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงการคมนาคมได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บ๊อชได้ถือครองกิจการ US carpooling start-up SPLT (Splitting Fares Inc.) ในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้บริษัทฯ ก้าวย่างสู่ธุรกิจการบริการใช้รถร่วมกันอย่างเป็นทางการ บริษัท SPLT ได้ออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อผู้สัญจรโดยเฉพาะ ซึ่งแอปฯ นี้จะเชื่อมต่อกับผู้คนที่อยู่ภายในองค์กรเดียวกัน ที่ใช้เส้นทางเดียวกันสัญจรไปยังที่ทำงานหรือโรงเรียน
ในปี 2559 บ๊อชเปิดตัวบริการ COUP หรือการใช้รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกัน (COUP e-scooter sharing service) ซึ่งเป็นการนำเสนอทางเลือกที่แสนสะดวกสบาย นอกจากการขนส่งมวลชน รถส่วนตัว หรือรถแท็กซี่ โดยมีใช้จริงบนท้องถนนในกรุงเบอร์ลินและปารีสแล้ว รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาเพื่อนำไปใช้ในเมืองต่างๆ ตลอดทั้งปีนี้ โดยเริ่มต้นที่กรุงมาดริด นอกจากนี้ แอปฯ COUP ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานค้นหาและจองรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ที่สุด และพร้อมเดินทางได้โดยทันที
แนวทางที่ยืดหยุ่นเหล่านี้ ล้วนผสานด้วยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่ออย่างครอบคลุมของบ๊อช ซึ่งจะช่วยวางโครงร่างของการขับเคลื่อนที่ไร้กังวลเพื่ออนาคตได้
ปัจจุบัน อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 9 ของผู้คนในทุกช่วงวัย และคาดว่าจะขึ้นเป็นอันดับ 7 ภายในปี 2573 จากข้อมูลตัวเลขพบว่า ประชากรมากกว่า 1.2 ล้านคน เสียชีวิตในทุกๆ ปีด้วยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนทั่วโลก องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียนในแต่ละปี มีประชากรราว 120,000 คน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่มีรายงานตัวเลขเพียง 63,000 คนเท่านั้น ทั้งนี้ พบว่า 9 ใน 10 ของอุบัติเหตุที่ถึงแก่ชีวิตทั่วโลก เกิดจากความผิดพลาดของคน ทั้งนี้ ฟีเจอร์และการทำงานอัจฉริยะต่างๆ ของยานยนต์ ที่กำลังจะเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ แทนคนขับ จะสามารถช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่ว่านี้ได้
การขับเคลื่อนในเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และมีความเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรได้แก่ ผู้สัญจรบนทางเท้า และผู้ใช้รถจักรยาน ระบบอัจฉริยะของบ๊อชที่มีเซนเซอร์ที่ใช้สัญญาณเรดาร์รวมทั้งกล้องวิดีโอ จะช่วยให้ยานยนต์สามารถตรวจจับและสังเกตตำแหน่งของผู้ใช้ถนนเหล่านี้ได้แม้ในสภาพการจราจรที่ยุ่งเหยิง ระบบจะเตือนผู้ขับขี่หรือแม้กระทั่งเข้าควบคุมหากมีความจำเป็น โดยขั้นตอนจะเป็นไปตามสถานการณ์ที่มีการระบุไว้ ผ่านการสื่อสารและการโต้ตอบของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งในยานยนต์ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา จากจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมากมายในเมือง เทคโนโลยียุคใหม่ที่ล้ำหน้าเหล่านี้ให้ประโยชน์แก่ผู้ใช้ถนนอย่างมาก โดยช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบาย รวมทั้งช่วยการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ใช้รถจักรยาน และผู้สัญจรบนทางเท้าด้วย
“บ๊อชเชื่อว่า ผลกระทบสำคัญที่อุตสาหกรรมยานยนต์สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ก็คือ การผลิตยานยนต์ที่ปลอดภัยกว่าเดิม ด้วยการติดตั้งระบบความปลอดภัยที่ล้ำสมัย”
ในปี 2521 มีการเปิดตัวระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จากนั้น ในปี 2538 ก็มีระบบ ABS สำหรับยานยนต์สองล้อออกสู่ตลาด ระบบเบรก ABS ทำให้การเบรกมีความปลอดภัย โดยช่วยให้ผู้ขับรักษาเสถียรภาพการทรงตัวของรถ และแม้ในขณะที่ต้องเบรกรถในระยะสั้น ก็จะไม่ลื่นไถล ข้อมูลงานวิจัยของบ๊อช มีการประมาณการว่า หากยานยนต์สองล้อทุกคันในกลุ่มประเทศอาเซียนติดตั้งระบบเบรก ABS จะสามารถป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับรถมอเตอร์ไซด์ได้ประมาณ 1 ใน 4 นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในยานยนต์ จึงมีการผลิตระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวของรถ (ESP®) สำหรับยานยนต์ขึ้นในปี 2538 ซึ่งระบบ ESP® ประกอบด้วยฟังก์ชันการทำงานของระบบเบรก ABS และระบบการตรวจจับการเคลื่อนไหวลื่นไถล ที่ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในทันที หลังจากที่มีการติดตั้งเทคโนโลยี ESP® พบว่า สามารถลดอุบัติเหตุรถลื่นไถลได้ถึงร้อยละ 80 และช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ ESP® ยังเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสำหรับระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่และการขับขี่ด้วยระบบอัตโนมัติอีกด้วย
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2554 ถึง 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน โดยสำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน บ๊อชได้มุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล มหาวิทยาลัย องค์กรอิสระต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งวิธีการหนึ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้สำเร็จก็คือ การออกกฎให้ยานยนต์รุ่นใหม่ทุกคันต้องติดตั้งระบบ ESP® ให้เร็วที่สุดในกระบวนการผลิตยานยนต์ครั้งต่อไป ทั้งนี้ ภายในเดือนมิถุนายน 2561 รถยนต์รุ่นใหม่ทั้งหมดในมาเลเซียจะต้องติดตั้งระบบ ESP® บ๊อชจึงเชื่อว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ก็ควรมีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างจริงจัง
บ๊อชมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าในแนวทางบูรณาการอย่างเป็นระบบ ด้วยการจัดสรรงบประมาณกว่า 7 พันล้านยูโร เพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบส่งกำลังรถยนต์ที่เหมาะสมต่ออนาคต อาทิ การพิจารณาถึงคุณสมบัติที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากร เป็นต้น องค์การพลังงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า พื้นที่ในเขตเมืองมีการใช้พลังงานที่เป็นผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกทั้งหลายถึงร้อยละ 67 โดยร้อยละ 28 ของพลังงานนั้น ถูกใช้ในระบบคมนาคมโดยปราศจากความพยายามควบคุมปริมาณการใช้ รวมถึงของเสียที่ปล่อยออกมา ซึ่งจำนวนการใช้พลังงานในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 ในปี 2593
ยานพาหนะทั้งแบบสองล้อและสี่ล้อที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ไฟฟ้า กำลังกลายเป็นยานยนต์รุ่นถาวรของผู้ผลิตชั้นนำค่ายต่างๆ ระบบไฟฟ้าจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
“เมืองต่างๆ ทั่วโลกกำลังปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับวิถีการขับเคลื่อนในเมือง และมีการสนับสนุนรูปแบบการคมนาคมทางเลือกแบบต่างๆ ซึ่งรูปแบบทางเลือกเหล่านี้โดยส่วนมากเกิดจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของเราโดยสิ้นเชิง เจตจำนงร่วมกันระหว่างภาคประชาชน เอกชน องค์กรอิสระ และรัฐบาล จะทำให้วิสัยทัศน์ในการสร้างการขับเคลื่อนในเมืองแห่งอนาคตอย่างมีความยั่งยืนและเกิดขึ้นได้จริง” มร. เฮยส์ กล่าวสรุป