อากาศเปลี่ยนสุดโต่ง เสี่ยง ไข้หวัด ปอดบวม อาหารเป็นพิษ
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน 3 วันร้อน 2 วันฝน บางทีก็ปนหนาวมาด้วย สลับกันกับหมอกควัน มลพิษสะสม ในเขตเมืองเป็นระยะ ๆ ร่างกายปรับความสมดุลไม่ทัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิงก็ไม่พ้นป่วย
2 กลุ่มโรคที่ต้องระวังช่วงอากาศเปลี่ยน
ด้วยความห่วงใยในสุขภาพของคนไทย นายแพทย์ ปุณพงศ์ หาญศิริพันธ์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ (อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบหายใจ) โรงพยาบาลพญาไท 2 (สนามเป้า) กล่าวถึงโรคและอาการเสี่ยงต่อโรคช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
“เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้ง่าย จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งโรคที่พบมาก 2 กลุ่ม ดังนี้
1.โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด
โรคที่พบบ่อยคือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจทำให้ อวัยวะติดเชื้อ มีอาการคล้ายหวัดทั่วไป คือ มีไข้ น้ำมูก ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หากรุนแรงขึ้นจะนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินหายใจ ไปจนถึงปอดอักเสบหรือปอดติดเชื้อได้ หากมีอาการรุนแรงต้องรีบพบแพทย์ทันที ส่วนคนที่มีโรคทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคหอบ หืด ถุงลมโป่งพอง เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอาจส่งผลให้อาการกำเริบได้ ให้กินยาแก้แพ้ที่เคยทานอยู่ก่อน หากยังไม่ดีขึ้นควรมาพบแพทย์
2.โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง
โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร เกิดจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และการรับประทาน อาหารสุกๆดิบๆ หรืออาหารที่ทิ้งไว้ข้ามคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอากาศร้อน แบคทีเรียเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้อาหารบูดและเสียได้ง่าย ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ หรือโรคบิดได้ง่าย หากอุจจาระเหลวและอาเจียนอย่างรุนแรง และหายใจติดขัด ให้รีบพบแพทย์โดยทันที
ใส่ใจ 7 ประการ ต้านทานโรคช่วงอากาศเปลี่ยน
นายแพทย์ ปุณพงศ์ หาญศิริพันธ์ แนะนำว่า การป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ในท่ามกลางภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งทุกคนทำได้ #อย่าปล่อยให้ป่วย
1.หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ทุกกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายก จะช่วยเสริมมวลกระดูก สร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ระบบหัวใจและเลือดไหล เวียนทำงานได้ดี
2.ดื่มน้ำสะอาด และ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่ค้างคืน ใช้ช้อนกลางทุกครั้งเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น นอกจากช่วยเติมความชุ่มชื่นให้ผิวพรรณ ยังเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเผาผลาญและช่วยเรื่องการขับถ่ายที่ดี ทั้งยังช่วยบรรเทาอากาศหวัด และเป็นการเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายของเราด้วย
3.หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ เป็นการป้องกันเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะโรคท้องร่วง หรืออาหารเป็นพิษ
4.กินอาหารที่มีประโยชน์และเพิ่มผัก ผลไม้สด จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้ วิตามินและเกลือแร่พบมากในผักผลไม้ ซึ่งบ้านเรามีให้เลือกกินมากมาย ฉะนั้นแล้วอย่าเพลินกับการกินแต่เนื้อสัตว์กับแป้ง
5.ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ไม่หักโหมทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายมีการซ่อมแซมตัวเอง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเกราะป้องกันโรคที่ทุกคนทำได้
6.ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด หากต้องไปในที่สาธารณะ ผู้คนพลุกพล่าน ต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นด้วยหน้ากากอนามัย ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ป่วยหรือปกติดี
7.ผ่อนคลายอารมณ์ ทิ้งความเครียดไว้นอกบ้าน วางความเครียดไว้ที่อื่น จบปัญหาและภารกิจต่างๆ เป็นเรื่องๆ เติมรอยยิ้ม อารมณ์ดี ความร่าเริงแจ่มใส เป็นวิธีป้องกันปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและใจเช่นกัน
Did You Know!
สวมหน้ากากอนามัย ช่วยป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน!
หน้ากากอนามัยมีหลายชนิด จะมีแบบที่ปิดหน้าเลย ไม่ให้อากาศเข้าข้าง ๆ ได้เลย ซึ่งอันนี้ก็จะดีกว่า แต่ข้อเสียคือใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกิจกรรมต่างๆ ก็จะเหนื่อย แต่หน้ากากที่ใช้กันประจำ ก็จะเป็นหน้ากากผ้าหรือหน้ากากกระดาษ ซึ่งสามารถซื้อได้ทั่วไป
“การสวมหน้ากากง่าย ๆ เลยคือ เวลาหายใจ ลมส่วนใหญ่ก็จะผ่านตัวกรองก่อนถึงจมูกเรา ดังนั้น ก็ต้องใส่ให้ปิดทั้งแนบทั้งแถบบน (สันจมูก) แถบล่าง (ใต้คาง) เมื่อเราหายใจเมื่อไหร่ลมออกไม่ได้ผ่านกระดาษหรือตัวกรองออกมาด้านข้างหรือเหนือจมูกขึ้นไป อันนี้ก็แสดงว่ามีรู รูอากาศข้างนอกผ่านเข้าไปไม่ผ่านตัวกรอง อันนี้ก็จะไม่ช่วยในการกรอง ดังนั้นก็ต้องใส่ให้ปิดทั้งข้างบนและข้างล่าง และปรับหน้ากากให้เข้ากับใบหน้า อากาศส่วนใหญ่ต้องผ่านทางหน้ากากเท่านั้น และต้องไม่ใช้ซ้ำข้ามวัน” นายแพทย์ ปุณพงศ์ หาญศิริพันธ์ กล่าวเสริม