web analytics

ติดต่อเรา

พาณิชย์แนะแนวทางการจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่ “โรงแรมขายเฟอร์นิเจอร์” co

“พาณิชย์” เผยญี่ปุ่นพลิกโฉมหน้าการจำหน่ายสินค้าแนวใหม่ ร้านเฟอร์นิเจอร์จับมือโรงแรม นำสินค้าเข้าไปตกแต่งในห้องพัก หากผู้เข้าพักที่ได้ทดลองใช้งานแล้วเกิดสนใจ สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ทันที ที่เคาน์เตอร์เช็กอิน เผยการใช้เทคนิคนี้ สร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภคได้มาก เพราะได้ทดลองใช้จริง แนะผู้ประกอบการไทยนำไอเดียมาปรับใช้กับการจำหน่ายสินค้า ยกตัวอย่าง “โต๊ะแช่น้ำไม่พัง” ถ้าทำให้ผู้บริโภคเชื่อ รับรองยอดขายกระฉูด

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโอซากา ว่า ขณะนี้ร้านซีเล็คช็อป Baycrew’s Store ย่านชิบูยา กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และสินค้าเบ็ดเตล็ด ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยได้ร่วมมือกับโรงแรม The Knot Yokohama ตั้งอยู่ในเขตโยโกฮามา นำเฟอร์นิเจอร์และของใช้เบ็ดเตล็ดจากทางร้านไปตกแต่งในโรงแรม เพื่อให้แขกที่มาเข้าพักได้ทดลองใช้จากการเข้าพัก หากว่าถูกใจและมีความประสงค์จะซื้อกลับไปใช้ที่บ้านหรือซื้อไปเป็นของฝาก ก็สามารถสั่งซื้อได้ที่เคาน์เตอร์เช็กอินของทางโรงแรม

สำหรับสินค้าที่ร้าน Baycrew’s Store นำไปตกแต่งในโรงแรม เช่น โซฟา ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ และของใช้เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ และยังได้ออกแบบภาชนะสำหรับใส่อาหารของโรงแรม และมีความตั้งใจที่จะออกแบบชุดยูนิฟอร์มทำงานสำหรับพนักงานโรงแรมด้วย รวมทั้งมีแผนที่จะวางจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์และสินค้าเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ในสถานที่อำนวยความสะดวกอื่น ๆ อีก เช่น โรงเรียนหรือโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าอีก

แนวคิดในการดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้ มีความน่าสนใจ เพราะการได้ทดลองใช้สินค้าจริง เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ และความต้องการในตัวสินค้าขึ้นได้ ยิ่งได้ทดลองใช้สินค้าจริงในสถานการณ์จริง บวกกับสถานที่จริง ก็ยิ่งเป็นการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจและตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นไอเดียที่แปลกใหม่ และผู้ประกอบการไทยควรจะพิจารณานำมาปรับใช้ในการจำหน่ายสินค้าและบริการของตนเอง เพราะหากทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความพิเศษที่แตกต่างไม่เหมือนใคร เชื่อว่าผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายเงินที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าและบริการที่มีความพิเศษ

“ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีจุดแข็ง มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ออกมาได้ดี มีความดึงดูด และน่าสนใจ แต่อาจจะมีจุดอ่อนด้านการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือในตัวสินค้า เข้าใจ และมองเห็นว่าสินค้าดียังไง ซึ่งการที่ผู้ประกอบการในญี่ปุ่นได้ใช้วิธีการนี้ ถือเป็นการปิดจุดอ่อน โดยนำเสนอสินค้าในพื้นที่ใช้งานจริง ทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้จากการใช้งาน และตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น” นางจันทิรา กล่าว

สำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทย ที่สามารถนำรูปแบบการประชาสัมพันธ์สินค้าแนวนี้มาใช้ เช่น โต๊ะไม้ที่สามารถแช่อยู่ในน้ำได้ โดยปกติผู้บริโภคที่ได้ยินได้ฟังอาจจะไม่ปักใจเชื่อในทันที  เพียงแค่ได้ยินว่า โต๊ะนี้สามารถแช่อยู่ในน้ำได้โดยไม่ทำให้ตัวสินค้าเสียหาย แต่หากสามารถทำให้ผู้บริโภคเห็นได้ด้วยตาว่าโต๊ะตัวนี้กำลังแช่อยู่ในน้ำโดยที่ไม่ทำให้โต๊ะเสียหาย ผู้บริโภคก็จะเชื่อในตัวสินค้ามากขึ้น จากนั้นผู้จำหน่ายก็อาจจะสื่อสารต่อว่าการที่โต๊ะตัวนี้สามารถแช่อยู่ในน้ำได้โดยไม่เกิดความเสียหาย มีประโยชน์ในการใช้สอยอย่างไรได้อีก

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *