หมอนที่ “ใช่” ต้องตรงกับท่านอนที่ “ชอบ”
EDITORIAL STAFF
ถึงจะมีคำแนะนำออกมาเกี่ยวกับท่าทางที่ถูกสุขลักษณะ แต่เอาเข้าจริง…หลายคนยังคงเลือกท่าถนัดในการหลับไหล โดยยังคงยืนพื้นใช้ระยะเวลาพักผ่อนต่อคืนให้ได้ 1 ใน 3 ของวัน หรือประมาณ 8 ชั่วโมง ส่งผลให้ต้องเลือกหมอนรองรับศีรษะอย่างเหมาะสม และด้วยคำแนะนำอย่างถูกต้องจากนายแพทย์วุฒิวัธ อนุพรรณสว่าง ศัลยแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี จะทำให้คุณพบคำตอบในการนอนหลับอย่างถูกต้อง
“แม้จะไม่มีท่านอนสากลที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุด แต่ท่านอนที่สบายที่สุดคือ ท่านอนที่ไม่ทำให้ข้อต่อของร่างกายถูกกดทับ ไม่ทำให้กล้ามเนื้อยืดหรือหดตัวค้างไว้นานๆ การได้นอนหลับในท่วงท่าที่เหมาะสม จะทำให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และหลับสนิทตลอดคืน ท่านอนจึงสามารถเปลี่ยนสลับกันได้เพื่อความสบายตัวของผู้นอน โดยท่านอนหลักๆ อาจแบ่งได้ด้วยกันอยู่ 3 ท่านอน”
ท่านอนหงาย
เป็นท่านอนที่คนทั่วไปนิยมนอน สามารถตอบโจทย์ได้ดีสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลัง การนอนหงายในท่าที่สบายจะทำให้กระดูกสันหลังเรียงตัวได้ดี ไม่คดโค้ง แต่ทั้งนี้เตียงต้องไม่แข็งจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดแรงกดทับที่จุดใดจุดหนึ่ง จนแผ่นหลังจมลงไปตามน้ำหนักไม่เหยียดตรงอย่างที่ควรจะเป็น
ผู้ที่มีอาการปวดหลังจากโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบรัดเส้นประสาท (Lumbar Spinal Stenosis) ไม่ว่าจะนอนท่าไหนก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เว้นแต่จะได้นอนด้วยท่างอเข่าขึ้น โดยนำหมอนมารองใต้เข่าในท่านอนหงาย นอนตะแคงโดยยกเข่าก่ายหมอนข้าง หรือนอนในท่าทารก (Fetal Position) คู้ตัวและงอเข่าขึ้น จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้
ดังนั้น ควรเลือกหมอนที่มีความหนาระดับปานกลาง ไม่สูงไม่ต่ำจนเกินไป จะช่วยทำให้คออยู่ในระดับที่สมดุลกับแผ่นหลัง ส่วนบนและกระดูกสันหลังได้เป็นอย่างดี ถ้าให้แนะนำหมอนที่เหมาะและสอดรับกับท่านอนหงายหรือผู้ที่มีอาการปวดหลังมากที่สุด น่าจะเหมาะกับหมอนประเภทยางพารา เพราะหมอนชนิดนี้ถูกออกแบบมาให้มีส่วนโค้งเว้า รับศีรษะ ต้นคอ และกระดูกสันหลัง ทำให้อาการปวดทุเลาลง
ท่านอนตะแคง
ควรจะนอนตะแคงด้านขวามากกว่าด้านซ้าย เพราะการนอนตะแคงขวาจะไม่ทำให้น้ำหนักกดทับอวัยวะที่อยู่ด้านซ้าย ช่วยให้หัวใจเต้นสะดวก ท่านอนตะแคงนี้ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการปวดไหล่ เพราะจะทำให้ไหล่ที่ปวดนั้นเจ็บหนักกว่าเดิม ส่วนหมอนที่แนะนำนั้น ต้องสอดรับกับช่องว่างระหว่างคอและไหล่พอดี อย่างหมอนเมมโมรี่โฟมที่ออกแบบมาเพื่อการกระจายแรงกดทับ รองรับกับทุกท่วงท่ารวมถึงท่านอนตะแคงด้วย
ท่านอนคว่ำ
จริงๆ แล้วเป็นท่านอนที่ไม่แนะนำ เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวโค้งไปทางด้านหน้ามากเกินไป นอกจากนี้ เวลานอนคว่ำก็ต้องตะแคงหน้าไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กระดูกต้นคอบิดไปด้วย อาจเป็นอันตรายและสะสมจนทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ ควรหลีกเลี่ยงการนอนคว่ำ เพราะจะทำให้กระดูกต้นคอเกิดแรงกดทับมาก ควรเปลี่ยนมานอนหงายหรือนอนตะแคงแทน
เราจึงต้องเลือกหมอนให้ตรงกับท่านอนที่เราถนัด และหลีกเลี่ยงการนอนในท่าที่จะทำให้เกิดผลเสียตามมา ยิ่งไปกว่านั้น คุณหมอวุฒิวัธยังแนะนำทิ้งท้ายว่า ชนิดและรูปทรงของหมอนนั้นมีหลายแบบ โดยช่วงแรกอาจจะต้องทดลองใช้หมอนแต่ละแบบสักประมาณ 2-3 เดือน เพื่อประเมินหาหมอนที่รับกับสรีระและนิสัยการนอนของตัวบุคคล เพื่อให้ได้หมอนที่ถูกสรีระมากที่สุด