เนสท์เล่ เดินหน้าโรงเรียนต้นแบบสุขภาพดี
ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาทุพโภชนาการในเด็กวัยเรียน ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์เรื่องโภชนาการมาอย่างยาวนาน แต่เด็กไทยส่วนใหญ่ยังคงมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกินตามใจชอบ การไม่ทานผัก การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ซ้ำๆ เป็นเวลานาน ผลที่ตามมาคือ ภาวะ ‘ผอม’ ในเด็กที่ได้รับสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ภาวะ ‘เตี้ย’ ในเด็กที่ขาดสารอาหารเรื้อรัง และภาวะ ‘อ้วน’ ในเด็กที่ได้รับสารอาหารเกินความต้องการของร่างกาย จากรายงานประจำปี 2559 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กไทยมีภาะวะเตี้ย ร้อยละ 7.5 ภาวะผอม ร้อยละ 5.2และภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 12.5 ขณะที่เกณฑ์ขององค์กรอนามัยโลกกำหนดว่าต้องมีภาวะเตี้ยไม่เกินร้อยละ 10 ผอมไม่เกินร้อยละ 5 และอ้วนไม่เกินร้อยละ 10
อ. สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ ที่ปรึกษาด้านโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “เด็กในวันนี้คือกำลังสำคัญของชาติในอนาคต แต่เด็กวัยเรียนที่เตี้ย ผอม และขาดสารอาหาร จะมีการเจริญเติบโตที่บกพร่อง ภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อได้ง่ายและเจ็บป่วยบ่อย ส่งผลต่อระดับสติปัญญาตามมา ในทางตรงกันข้าม เด็กที่มีภาวะอ้วน จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น ภาวะทุพโภชนาการของเด็กวัยเรียนจึงเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยผ่านทางนโยบายระดับชาติที่ชัดเจนในระยะยาว และการแก้ปัญหาโภชนาการเด็กควรทำควบคู่กันทั้งที่บ้านและโรงเรียน ด้วยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการที่ถูกต้องให้กับครูและผู้ปกครอง การสนับสนุนอาหารกลางวันที่มีคุณภาพในโรงเรียน และการปลูกฝังพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสมให้กับเด็กทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน”
นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จึงร่วมกับกรมอนามัย คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการเด็กไทยสุขภาพดี (Nestlé Healthy Thai Kids) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการและสุขภาพที่เหมาะสมให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ตลอดจนปลูกฝังพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและส่งเสริมการออกกำลังกายให้แก่เด็กไทยวัยเรียน ผ่านสื่อการเรียนการสอนและกิจกรรมที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย ภายใต้แนวคิด ‘อ่าน-ปรับ-ขยับ-เปลี่ยน’ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และตามบริบทของแต่ละโรงเรียน โดยโครงการนี้ได้เข้าถึงคุณครู 7,578 คน และเด็กนักเรียนกว่า 1.67 ล้านคน ก้าวสู่ปีที่ 14 นี้ โครงการฯ เดินหน้าสร้างกำลังใจ และเชิดชูคุณครูที่ขับเคลื่อนโภชนาการและสุขภาพของเด็กอย่างจริงจัง มีการนำความรู้โภชนาการต่อยอดสู่การเรียนรู้และนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันได้เป็นผลสำเร็จ โดยโครงการฯ ได้พัฒนาสื่อใหม่ๆ พร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากครูต้นแบบให้เข้าถึงได้ง่ายผ่านช่องทางดิจิตอล www.dekthaidd.com
คุณครูธิติยา ทักษิณภาค ครูอนามัยแห่งโรงเรียนบ้านทุ่งส่าย อ. ท่าตะเกียบ จ. ฉะเชิงเทรา สะท้อนปัญหาด้านโภชนาการของเด็กในโรงเรียนให้ฟังว่า “ในแต่ละปีจะพบนักเรียนจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาด้านการเจริญเติบโต อ้วน เตี้ย ผอม แม้ว่าโรงเรียนจะช่วยแก้ปัญหาโภชนาการได้ในระดับหนึ่งในช่วงระหว่างเปิดภาคเรียน แต่เมื่อปิดภาคเรียนแล้ว ถ้าเด็กไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม เมื่อเปิดเทอมมาก็จะเจอปัญหาเดิมนี้อีก”
ครูธิติยา เข้าร่วมโครงการเด็กไทยสุขภาพดีกับเนสท์เล่ตั้งแต่ปี 2554 จากการเป็นตัวแทนของโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมการอบรมกับทางโครงการฯ และได้รับสื่อการสอนมาหนึ่งชุด ซึ่งเห็นว่าน่าสนใจจึงลองนำมาใช้กับเด็กในห้องเรียนของตนเองก่อน ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงร่วมกับนักเรียนแกนนำและครูท่านอื่นๆ ต่อยอดให้กับเด็กทั้งโรงเรียน พร้อมทั้งจัดทำสื่อการสอนชุด ‘สื่อสร้างสรรค์ ลดหวาน มัน เค็ม’ สำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะอ้วน เตี้ย ผอม โดยเน้นการบูรณาการความรู้ด้านโภชนาการของโครงการฯ เข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอนภายในชั้นเรียน โดยเฉพาะหลัก 4 ประการเพื่อเด็กไทยสุขภาพดี ได้แก่ อ่าน- อ่านฉลากโภชนาการ ปรับ- หันมากินอาหารที่หลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ ขยับ- กินเท่าไหร่ ต้องใช้ให้หมด เปลี่ยน- เปลี่ยนมากินอาหารที่มีความหวาน มัน เค็ม แต่พอดี โดยได้ผนวกแนวคิดดังกล่าวไว้ในหลายๆ วิชา อาทิ การเรียนรู้การอ่านฉลากโภชนาการ และฉลากผลิตภัณฑ์ ในชั้นเรียนต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้จัดประชุมผู้ปกครองและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พร้อมเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำในการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพของเด็กในขณะอยู่บ้านและระหว่างปิดภาคเรียน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
“ก่อนหน้านี้ ทางโรงเรียนบ้านทุ่งส่ายพยายามแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพของเด็กมาโดยตลอด แต่เป็นการดำเนินการในแบบที่ไม่มีทิศทางและแผนการที่ชัดเจน จึงแก้ปัญหาได้แค่ในระยะสั้นๆ เมื่อเด็กปิดเทอมและห่างจากโรงเรียนไป ปัญหาก็กลับมาอีก แต่เมื่อได้รู้จักกับโครงการเด็กไทยสุขภาพดีจากเนสท์เล่ ทางโครงการฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียน สาเหตุ วิธีการแก้ปัญหา รวมทั้งเทคนิคการจัดโครงการส่งเสริมสุขภาพภายในโรงเรียน ตลอดจนการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน ทำให้เรามีแรงบันดาลใจ เป้าหมายที่ชัดเจน และกระบวนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม จึงสามารถแก้ปัญหาด้านโภชนาการของเด็กในโรงเรียนได้อย่างตรงจุด” ครูธิติยากล่าวพร้อมยกตัวอย่างโครงการ ‘กินเป็น เล่นเป็น เน้นสูง’ ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอดหนึ่งปีการศึกษา ส่งผลให้นักเรียนทั้งโรงเรียนมีสุขภาพดีขึ้น และปัจจุบันโรงเรียนบ้านทุ่งส่ายมีนักเรียนที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง (สมส่วน) ถึงร้อยละ 85 จากนักเรียนทั้งหมด 410คน
ครูบุญเพ็ง แสนอุบล ครูสุขศึกษาแห่งโรงเรียนบ้านง่อนหนองพะเนาว์ อ. สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ซึ่งเป็นครูต้นแบบอีกท่านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของนักเรียน จากการนำสื่อการสอนของโครงการเด็กไทยสุขภาพดีจากเนสท์เล่ไปปรับใช้ กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้เคยมองว่าปัญหาด้านโภชนาการเด็กเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ได้ยาก แต่โครงการเด็กไทยสุขภาพดีได้เปิดมุมมองใหม่ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาโดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่มั่นคงในโรงเรียน จากคุณครูสู่นักเรียน นำไปสู่เครือข่ายที่แผ่ขยายไปยังเพื่อนร่วมโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต่อไป
จากประสบการณ์การสอนกว่า 40 ปี ในหลายท้องถิ่น ครูบุญเพ็งได้สัมผัสวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกันในแต่ละท้องที่ “หลายๆ จังหวัดในภาคอีสาน นอกจากจะมีวัฒนธรรมการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็กแล้ว ปัจจุบัน เด็กยังมีพฤติกรรมนิยมบริโภคอาหารตามกระแสและโฆษณา ไม่ว่าจะเป็น อาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน น้ำอัดลม ซึ่งอาหารเหล่านี้ล้วนมีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูงเกินความต้องการของร่างกาย พฤติกรรมการกินเช่นนี้เป็นปัญหาใหม่ของยุคปัจจุบัน และยังไม่มีหลักสูตรที่สอนให้เด็กได้เรียนรู้ถึงโทษอย่างชัดเจน การที่เนสท์เล่นำโครงการเด็กไทยสุขภาพดีเข้ามา จึงช่วยจุดประกายให้โรงเรียนได้จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยนำสื่อการสอน แนวทางการจัดกิจกรรม และคำแนะนำต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญและเว็บไซต์ของโครงการฯ www.dekthaidd.com มาปรับใช้ให้เข้ากับนักเรียนและบริบทของโรงเรียน ทำให้รู้สึกว่าการดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของเด็กในโรงเรียนไม่ได้ยากอย่างที่คิด”
นอกจากการบูรณาการสื่อการสอนของโครงการเด็กไทยสุขภาพดีไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ของครูทุกคนในโรงเรียนแล้ว โรงเรียนบ้านง่อนหนองพะเนาว์ยังจัดกิจกรรมพิเศษเพิ่มเติมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและปลูกฝังค่านิยมด้านโภชนาการที่ถูกต้องภายใต้แนวคิด ‘อ่าน-ปรับ-ขยับ-เปลี่ยน’ ให้แก่นักเรียน อาทิ การอบรมเชิงวิชาการด้านโภชนาการสำหรับนักเรียนและบุคลากรทั้งโรงเรียน และโครงการลดน้ำหนักภายในโรงเรียน ซึ่งให้นักเรียนจับคู่กัน เพื่อสังเกตพฤติกรรม ออกกำลังกาย พร้อมดูแลด้านอาหารและโภชนาการของกันและกัน โดยตั้งเป้าให้เด็กที่มีภาวะเริ่มอ้วนหรืออ้วนจำนวน 30 คน ลดน้ำหนักให้ได้รวม 60 กิโลกรัม ภายใน 120 วัน ปรากฏว่านักเรียนสามารถลดน้ำหนักได้รวมกัน 80 กิโลกรัม โดยทุกคนสามารถลดน้ำหนักได้ตามเป้าที่วางไว้อย่างน้อยคนละ 2 กิโลกรัมและมีบางคนสามารถลดน้ำหนักได้ถึง 6 กิโลกรัม นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการลดหวานภายในโรงเรียนพบว่า จากปกติในหนึ่งเดือนนักเรียนจะบริโภคน้ำตาล 4 กระสอบเล็ก ปัจจุบันการบริโภคน้ำตาลเหลือเพียง 2 กระสอบเล็กเท่านั้น
คุณครูบุญเพ็งกล่าวทิ้งท้ายว่า “โรงเรียนเพียงแห่งเดียวคงไม่สามารถส่งเสริมโภชนาการและปรับพฤติกรรมการทานอาหารของเด็กได้อย่างยั่งยืน เราจึงต้องสร้างเครือข่ายเด็กนักเรียนแกนนำเพื่อช่วยต่อยอดสู่ชุมชน โครงการเด็กไทยสุขภาพดีได้ช่วยปลูกฝังและสร้างต้นแบบด้านโภชนาการให้กับนักเรียนที่นี่ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้มีความกล้าที่จะแสดงออก สามารถเรียนรู้ที่จะสืบค้นข้อมูล คิดวิเคราะห์ และสร้างสื่อใหม่ๆ ขึ้นเองเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อให้กับเพื่อนนักเรียนชั้นอื่นๆ ตลอดจนผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงในโรงเรียนที่เด็กได้ย้ายไปศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยม เป็นต้นกล้าด้านโภชนาการที่จะไปหว่านความรู้ให้กับที่อื่นๆ ต่อไป หากโครงการเด็กไทยสุขภาพดีสามารถสร้างต้นกล้าเหล่านี้ได้จำนวนมาก เชื่อว่าปัญหาภาวะโภชนาการของเด็กไทยคงไม่ยากเกินแก้”