ญาติผู้ป่วยทางจิตจับมือกันทั่วประเทศ “ขอที่ยืนให้คนป่วยใจ”
พบคนไทยป่วยทางจิตเพิ่มมากแต่ความเข้าใจน้อย สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ในนามเครือข่ายญาติผู้ป่วยทางจิตทั่วประเทศ จับมือเรียกร้อง “ขอที่ยืนให้ผู้ป่วยใจ” ชี้ไม่มีครอบครัวไหนไม่เคยใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยใจ วอนทุกฝ่ายเปิดใจเรียนรู้ เปิดเพจเฟสบุ๊ค “เพื่อนคนป่วยใจ” ให้ความรู้สาธารณะ พร้อมจัดงานวิ่ง “ก้าวแรก บั้ดดี้รัน” จับมือองค์กรระหว่างประเทศขยายเครือข่ายการทำงานทั่วอาเซียน
สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยจับมือกรมสุขภาพจิตและเครือข่ายจัดงานแถลงข่าว “ขอที่ยืนให้ผู้ป่วยใจ” ที่โรงแรมเดอะเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่าย หันมาทำความเข้าใจกับโรคทางจิตเวชและเข้าใจผู้ป่วยจิตเวช เผยคนไทยเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มมากขึ้น แต่มีความรู้ความเข้าใจในผู้ป่วยและโรคทางจิตเวชน้อยมาก จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ การไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการรักษา ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ ชี้คนไทยมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยทางจิตสูง คือในประชากรทุก 10 คน จะมีโอกาสเจ็บป่วยทางจิต 1 คน และอัตราความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1 ต่อ 5 สำหรับโอกาสการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ย้ำสาเหตุสำคัญคือความไม่เข้าใจของสังคมต่อความเจ็บป่วยทางใจ จนนำไปสู่ความอาย ความกลัว การปฏิเสธการรักษา และการไม่ให้ที่ยืนกับผู้ป่วยใจ และนี่คือปัญหาของทุกคนในประเทศ เพราะไม่มีครอบครัวไหนที่ไม่เคยใช้ชีวิตกับผู้ป่วยใจ
นางนุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ทุกวันนี้ผู้บกพร่องทางจิตที่ได้รับการฟื้นฟูแล้ว ยังถูกปฏิเสธการจ้างงาน รวมทั้งครอบครัวยังต้องทนรับแรงกดดันและการรังเกียจจากสังคม ทั้งที่โรคทางจิตเวชไม่ใช่โรคติดต่อ ทุกคนป่วยได้และหายได้ ในปีนี้ทางสมาคมฯ จึงลุกขึ้นให้ความรู้และสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ ในโครงการรณรงค์ เสริมพลังใจให้โอกาสผู้บกพร่องทางจิต โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเพจเฟสบุ๊ค “เพื่อนคนป่วยใจ” จัดกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย และจัดงานวิ่งรณรงค์ “ก้าวแรก บั้ดดี้รัน” ขึ้นด้วย
งานแถลงข่าวที่จัดขึ้นในรูปแบบการเสวนาในครั้งนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากอดีตผู้ป่วยใจ ที่เข้ารับการรักษาฟื้นฟูจนหายเป็นปกติและกลับเข้าสู่สังคม โดยนักเขียนชื่อดังที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์การป่วยของตนเอง คุณไขศรี วิสุทธิพิเนตร กล่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า “ปัญหาการสื่อสารกับผู้ป่วยทางจิตที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นมีมาก จากที่ได้เจอมาพบว่าผู้ปกครองไม่มีความเข้าใจและรับมือไม่ถูกเมื่อลูกป่วย ทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวและไม่ได้รับการรักษา” และ นักแต่งเพลง คุณบอย โกสิยพงษ์ ซึ่งเคยป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เปิดเผยว่า “ผมมองว่าโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครไม่เคยป่วย สำหรับผมการป่วยไม่ต่างอะไรจากการเป็นหวัด และการก้าวผ่านความเจ็บป่วยทางใจมาได้ทำให้เข้าใจคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง”
สำหรับผู้แทนจากกรมสุขภาพจิต คุณประกอบ วงศ์ผลวัต ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “กรมสุขภาพจิตมีความยินดีและมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการทำงานในโครงการนี้ เพราะการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมต่องานด้านสุขภาพจิต เป็นเรื่องยาก ที่ต้องใช้พลังความร่วมมือจากทุกฝ่าย”
ในด้าน Mrs. Silvana Mehra ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรซีบีเอ็ม ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีสำนักงานในทุกภูมิภาคทั่วโลก กล่าวว่า “เรามีความสนใจที่จะร่วมงานกับสมาคมฯ เพื่อยกระดับความเข้าใจของสังคมไทยต่อผู้พิการทางจิต เพราะจากการประเมินระดับความก้าวหน้าในการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการทางจิตของประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางระบบที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพราะไทยมีนโยบายด้านสาธารณสุขที่ก้าวหน้า มีกฎหมายรองรับ และมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ทำให้องค์กรสนใจที่จะร่วมมือทำงานกับประเทศไทย และหวังว่าใน 2-3 ปีนี้ จะพยายามยกระดับลำดับความสำคัญในงานด้านนี้ให้เพิ่มสูงขึ้น โดยสนใจที่จะดึงประเทศต่างๆ ในอาเซียนมาเป็นเครือข่าย และนำวิธีการที่ประเทศไทยใช้ ไปเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นต่อไป”
สำหรับสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยเกิดจากการรวมตัวกันของญาติและผู้ให้การดูแลผู้ป่วยจิตหรือผู้บกพร่องทางจิตจากทั่วประเทศที่รวมกันเป็นชมรมและองค์กรเล็กๆกระจายการทำงานครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด จำนวนกว่า 200 องค์กร มีสมาชิกกว่า 2,800 คน โดยดำเนินงานเป็นสื่อกลางในการประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยใจและญาติ พร้อมทั้งขับเคลื่อนนโยบายให้ผู้บกพร่องทางจิตได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฏหมายที่เหมาะสมในฐานะผู้พิการทางจิต โดยสมาคมฯ ได้ดำเนินงานย่างเข้าสู่ปีที่ 15 สำหรับประชาชนที่ต้องการคำแนะนำในการพาผู้ป่วยทางจิตเข้ารับการรักษา สามารถใช้บริการ สายด่วนสุขภาพจิต ของกรมสุขภาพจิต ที่เบอร์ 1323 และแลกเปลี่ยนความรู้สึกได้ที่ เฟสบุ๊คเพจ “เพื่อนคนป่วยใจ”