วิริยะประกันภัย ใช้ FIRST AID โมเดล เปิดปฏิบัติการกู้รถน้ำท่วมสกลนครสำเร็จ
วิริยะประกันภัยใช้ FIRST AID โมเดลกู้และซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมสกลนคร ประเมินเบื้องต้นจมน้ำประมาณ 800 คัน และเอาประกันภัยไว้กับบริษัทฯ ไม่ต่ำกว่า 200 คัน เผยเบื้องหลังความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ที่ร่วมบูรณาการตามโมเดล “ปฏิบัติการ First Aid” อีกทั้งได้ระดมธารน้ำใจจากวิริยะจิตอาสาทั่วไทยส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ช่วยประชาชนในพื้นที่
นายณัฐพงศ์ บุญเย็น ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการภาค 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าจากวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสกลนครประสบความเสียหายมากที่สุด ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ประเมินความเสียหายในเบื้องต้นประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยความเสียหายที่มีการทำประกันภัยไว้ สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มรถยนต์ซึ่งคาดว่าน่าจะเสียหายจากการถูกน้ำท่วมประมาณ 800 คัน กลุ่มพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะประกันภัยนาข้าว ทางสำนักงาน คปภ.ได้ประกาศออกมาแล้วมีความเสียหาย 23,331 ไร่ และกลุ่มสุดท้ายคือ ที่อยู่อาศัย ร้านค้า อาคารสำนักงาน ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะต้องประเมินจากการแจ้งเคลมความเสียหายจากผู้เอาประกันภัย
สำหรับภัยที่ บมจ.วิริยะประกันภัย รับประกันภัยเอาไว้ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ และคาดว่าน่าจะประสบภัยน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 200 คัน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลล่าสุดที่ได้รับแจ้งจากผู้เอาประกันภัย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 144 คัน โดยส่วนใหญ่สามารถกู้ขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนรถยนต์ที่ยังไม่สามารถกู้ได้ส่วนใหญ่จะจมอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองหรือที่เรียกกันว่าสะดือของเมือง ซึ่งในพื้นที่บริเวณนี้น้ำยังสูงมาก แต่คาดว่าน่าจะดำเนินการกู้ได้ภายใน 1-2 วันนับแต่นี้
นายณัฐพงศ์กล่าวต่อไปอีกว่า การปฏิบัติการช่วยเหลือรถยนต์ถูกน้ำท่วมจำนวนมากอย่างนี้ ได้ดำเนินการไปตามโมเดลที่เรียกว่า “ปฏิบัติการ First Aid” อันเป็นระบบที่บริษัทฯ ได้คิดค้นขึ้นมาในการกู้และซ่อมแซมรักษารถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมจากการเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศเมื่อปี 2554 และได้มีการพัฒนากระบวนการทำงานอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ภาคใต้เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าอุทกภัยจะเกิดขึ้นที่ไหนและมีรถยนต์เสียหายจำนวนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนสามารถทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการสั่งการ ตลอดไปถึงการส่งทีมงานจากส่วนกลางเข้าไปช่วย
ในขณะเดียวกันทางผู้บริหารศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนสกลนคร ได้ประสานไปยังตัวแทน นายหน้า ศูนย์ซ่อมมาตรฐานวิริยะประกันภัย และบรรดาคู่ค้า รวมไปถึงพันธมิตรทางการค้า อาทิ สถานตรวจสภาพรถยนต์ และดีลเลอร์ เพื่อสำรวจว่ามีพื้นที่ที่สามารถรองรับการนำรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมได้หรือไม่ มากน้อยขนาดไหน ในขณะที่ทีมช่างซ่อมรถยนต์จากศูนย์ซ่อมฯ และจากดีลเลอร์ก็เตรียมความพร้อมและสามารถกระจายกำลังพลไปดำเนินการฟื้นสภาพหรือซ่อมแซมในเบื้องต้นตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ได้ทันที
อีกทั้งการเข้าไปกอบกู้รถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม บริษัทฯ ไม่ได้ตีกรอบความช่วยเหลือเฉพาะรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับบริษัทฯ เท่านั้น แต่เข้าไปช่วยทุกคันตามที่ได้มีการแจ้งเข้ามาให้เข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายทางอีกด้วย
หัวใจหลักของระบบ First Aid อยู่ที่ความรวดเร็วในการฟื้นฟูหรือซ่อมแซม เพื่อไม่ให้ความเสียหายขยายตัวไปมากกว่าเดิม นำรถออกจากน้ำให้เร็วที่สุด เปลี่ยนระบบน้ำมันหล่อลื่นภายในรถยนต์ทันที และทำให้ตัวถังและอุปกรณ์ภายในแห้งโดยเร็วที่สุด ซึ่งในการนี้ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น โดยทางดีลเลอร์ได้จัดส่งช่างผู้มีความรู้ ความชำนาญ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมดูแลรถที่ถูกน้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย ส่วนขั้นตอนการทำงานจะเหมือนกับไลน์ผลิตรถยนต์ ในขณะที่การประเมินความเสียหายที่ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของการเคลมประกันภัย อาทิ การตรวจสอบหลักฐานว่าอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยครบถ้วนเพียงใด จะเป็นเรื่องที่ดำเนินการในภายหลัง หรืออย่างน้อยๆ ต้องผ่าน 2 ขั้นตอนแรกไปก่อน คือการนำเอารถออกจากพื้นที่น้ำท่วมและการเปลี่ยนถ่ายระบบน้ำมันหล่อลื่นภายใน
นอกจากการระดมสรรพกำลังเข้าไปกู้และซ่อมแซมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของบริษัทฯ แล้ว การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในรูปแบบอื่นๆ ทางบริษัทฯ ก็ได้ดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กัน โดยนายณัฐพงศ์ได้กล่าวถึงการดำเนินงานในส่วนนี้ว่า เป็นภารกิจหลักของกลุ่มพนักงานวิริยะจิตอาสา ซึ่งเริ่มจากกลุ่มพนักงานสำรวจภัยซึ่งต้องทำหน้าที่เข้าไปสำรวจรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมตามที่ได้รับแจ้งอยู่แล้ว จะทำหน้าที่สำรวจความเดือดร้อนของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ไปด้วยเลยว่า ต้องการให้ช่วยเหลือในเรื่องของเครื่องอุปโภคและบริโภคอย่างไรบ้าง จากนั้นก็จะส่งข้อมูลความต้องการเหล่านี้มายังศูนย์กลางที่บริษัทฯ ได้ใช้ศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนสกกลนครเป็นศูนย์ประสานงาน ซึ่งจะทำหน้าที่ประมวลความต้องการและดำเนินการจัดซื้อ รวมไปถึงการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน จากนั้นก็จะส่งไม้ต่อให้กลุ่มพนักงานจิตอาสาอีกกลุ่มหนึ่งลำเลียงไปส่งตามพิกัดข้อมูลที่ได้รับมา
โดยงบประมาณในการจัดซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภค ทางหน่วยงานในพื้นที่ได้ตั้งงบเพื่อใช้จ่ายทันที 2 แสนบาท และได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นจากส่วนกลางอีก 5 แสนบาท นอกจากนี้ด้วยระบบเทคโนโลยีที่บริษัทฯ ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อเชื่อมเครือข่ายโยงใยเป็นหนึ่งเดียวหรือที่เรียกว่านวัตกรรมบริการ 4.0 ทำให้กลุ่มวิริยะจิตอาสา ทั้งที่เป็นพนักงาน ตัวแทน นายหน้า ศูนย์ซ่อมฯ ตลอดไปถึงคู่ค้า และพันธมิตรทางการค้าที่อยู่ทั่วประเทศ สามารถส่งความช่วยเหลือมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน
“คงเป็นประเด็นที่กลุ่มวิริยะจิตอาสาในพื้นที่ต้องวิเคราะห์และประเมินกันอีกว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปแล้ว รูปแบบของการช่วยเหลือจะต้องทำอย่างไรที่ยั่งยืนและตรงต่อความต้องการ เช่นเดียวกับกระบวนการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ต้องรีบสรุปความเสียหายที่แท้จริง เพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เร็วที่สุด มิใช่พิจารณาตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้” นายณัฐพงศ์กล่าวในที่สุด