web analytics

ติดต่อเรา

“พิเชฐ” ดึงแนวร่วมภาคเอกชนพลิกโฉมประเทศด้วยดิจิทัล

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) จัดกิจกรรมผู้บริหารกระทรวงฯ พบผู้บริหารภาคเอกชนระดับซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่อาทิ ฮอนด้า โตโยต้า ปตท. มิตรผล ไลน์ หัวเว่ย อนันดากรุ๊ป ฯลฯ  เพื่อเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นและหารือร่วมกันในการสร้างความร่วมมือเพื่อผลักดันนโยบายประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อต่อยอดไปสู่การเดินหน้านโยบายไทยแลนด์ 4.0
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า การที่ประเทศจะเข้าสุ่Thailand 4.0 ได้นั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรกคือภาคประชาชน ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้าไปมีบทบาทอย่างมาก สิ่งที่กระทรวงฯ ดำเนินการอยู่คือ โครงการเน็ตประชารัฐ ปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่ 75,000 หมู่บ้าน มีเน็ตประชารัฐไปแล้ว 30,000หมู่บ้าน อีกสามเดือนคาดว่าจะเห็นอีก 24,000 หมู่บ้าน และใช้เงินจากกองทุนเงินข้างนอกเพื่อดำเนินการให้ครบ 18,000หมู่บ้านสุดท้ายเมื่อทุกหมู่บ้านลืมตาอ้าปากได้เพราะมีซุปเปอร์ไฮเวย์ ก็จะพลิกโฉมวิธีการทำงานของเราให้ทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการคือ เรื่องสุขภาพ ขณะนี้ดีอีได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพัฒนาระบบ e-Health ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่จากเดิมต้องเดินทางห้าสิบกิโลเมตรไปโรงพยาบาลอำเภอ ตอนนี้แพทย์ที่ชุมชนสามารถปรึกษาแพทย์จากโรงพยาบาลในเมืองได้ โดยที่สัญญานไม่กระตุก เพราะสามสิบเมกะบิทสามารถดูแลเครื่อง MRI หรือเอกซเรย์ได้เลย นอกจากนี้ยังมี e-อสม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ผลิต อสม.ขึ้นมาถ้าผนวกรวมกับระบบดิจิทัลให้เขาสร้างเครือข่ายถึงกันได้ก็จะเป็นประโยชน์แบ่งปันความรู้และข้อมูลถึงกันได้รวดเร็ว
ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า ดีอีได้ดำเนินโครงการดิจิทัลพาร์ค ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ โดยตั้งใจจะทำให้เป็นการพัฒนาระบบนิเวศด้วยดิจิทัล โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการพัฒนาไม่ใช่เน้นการนำเข้าเทคโนโลยีอย่างเดียว กล่าวคือช่วยให้ผู้ประกอบการด้านดิจิทัลทำงานได้อย่างคล่องตัว มีสถาบันการเรียนรู้ สถาบันการศึกษา ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมา อีกเรื่องคือสมาร์ทซิตี้ สิ่งที่กระทรวงฯ จะทำภายในปีหน้า วันนี้เราเริ่มแล้ว ที่ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ซึ่งแต่ละที่ก็มีความเข้มแข็งมาก นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ ECC ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งจะครอบคลุมแถบชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา คาดว่าปีหน้าพอมีตัวอย่างให้เห็น และจากที่ได้ลงพื้นที่ ผู้ว่าราชการหลายจังหวัดก็อยากให้เราทำสมาร์ทซิตี้ทั้งนั้น เนื่องจากจะได้กระจายความเจริญไปทั่วประเทศ ไม่ใช่มากระจุกตัวกันอยู่แต่ในกรุงเทพฯ
โอกาสของประเทศไทยมาถึงแล้วนะครับ รัฐบาลไม่สามารถทำให้เสร็จได้ ก็ต้องเชิญชวนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมาร่วมกัน ขอให้วงนี้เป็นดิจิทัลประชารัฐที่ช่วยกันทำงาน จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ เรียกว่าช่วยกันแบบไร้รอยต่อ ดร.พิเชฐ กล่าว
ในที่ประชุม มีการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์กันอย่างกว้างขวาง โดย นายนินนาท  นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานบอร์ดโตโยต้า กล่าวถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมีการนำมาพัฒนาไว้ในตัวรถ อาทิ ไวไฟในรถ /รู้ทันทีมีระบบแจ้งอัตโนมัติเมื่อรถเสีย ขณะที่นายวิทวัท สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการบริษัท (มหาชน) ได้ยกตัวอย่างการทำงานของ ปตท.ว่ามีการสร้างอินโนเวชั่น พาร์ค จึงอยากเชิญชวนหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชนที่สนใจมาทำวิจัยและร่วมมือกันพัฒนาก้าวไปสู่ดิจิทัลด้วยกัน
ขณะที่นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการแห่งไลน์ ก็ระบุว่า ประเทศไทยใช้ไลน์เป็นช่องทางการสื่อสารเป็นสองรองจากญี่ปุ่น และมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากการใช้ไลน์มากมาย โดยเฉพาะธุรกิจอาหารที่ปัจจุบันมีเครือข่ายถึงกว่า 30,000 แห่ง และเร็ว ๆ นี้จะเปิดไลน์แท็กซี่ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า ดิจิทัลไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่แหวกแนวเสมอไป เพียงแต่ทำให้ชีวิตง่ายและดีขึ้นก็อาจจะเพียงพอสำหรับกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มและในอนาคตอันใกล้จะพัฒนาไปสู่ไลน์โกลว์บอล
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า โครงสร้างประชากรไทยเกือบเจ็ดสิบล้านคนแจ้งตัวเลขของคนที่ยังไม่เข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรราว 5 ล้านครัวเรือนหรือกว่า 7 ล้านคน โดยคนเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเป็นคนพันธุ์ดิจิทัล ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของภาคอุตสาหกรรมใหม่ประเทศ โดยเฉพาะในธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีเกือบ 3 ล้าน จะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลงเอสเอ็มอีเหล่านี้ไปสู่ผู้ประกอบการด้านดิจิทัลที่สามารถกระตุ้นจีดีพีให้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องได้มันสมองระดับซีอีโอของภาคเอกชนมาช่วยขับเคลื่อน ก็จะทำให้ประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง
พร้อมก้นนี้ก็อยากเชิญชวนทุกท่านร่วมงาน ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2017” ซึ่งการจัดงานที่รวมเทคโนโลยีจากทั่วโลก มารวมไว้ในงานเดียว โดยปีนี้จัดภายใต้แนวคิด โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน หวังพลิกโฉมประเทศ สู่ดิจิทัลไทยแลนด์เต็มตัว และขณะนี้มีภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตอบรับเข้าร่วมงานแล้วกว่า 200 ราย โดยงานจะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 21-24 กันยายนนี้ ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร สามารถดูรายละเอียดข้อมูลของงาน “Digital Thailand Big Bang 2017″ ได้ที่ www.digitalthailandbigbang.co

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *