เชฟรอนชวนสัมผัส “ชีวิตเดินช้า” ที่ลุ่มน้ำตาปี เที่ยวชมวิถีชุมชนครบสูตร “อิ่มตา-อิ่มใจ-อิ่มท้อง-อิ่มบุญ”
เชฟรอนประเทศไทย ชวนสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวมิติใหม่ใน 6 ชุมชนต้นแบบของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชูความเรียบง่ายตามวิถีชนบท พร้อมนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นสุราษฎร์ธานีในอีกด้านที่นักท่องเที่ยวไม่เคยเห็น สนับสนุนแนวคิดการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการรักษาและจัดการทรัพยากรชุมชนโดยเครือข่ายประชารัฐ สร้างสมดุลความสุขให้คนในชุมชนและผู้มาเยือน
นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า“จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวจากเกาะและทะเลที่สวยงาม แต่ในความเป็นจริง สุราษฎร์ธานียังมีสิ่งน่าสนใจที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกมาก ทั้งศิลปะวัฒนธรรมพื้นถิ่น และวิถีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างชุมชนลุ่มน้ำและชายฝั่งทะเล ด้วยเหตุนี้ เชฟรอนจึงร่วมมือกับพันธมิตรในการส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเริ่มต้นจากชุมชนรอบอ่าวบ้านดอน เพื่อให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วไปมากขึ้น และมีการดูแลจัดการให้เกิดความยั่งยืน”
โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย เชฟรอนประเทศไทย และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มชุมชน เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพทางการท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รองรับการขยายตัวทางการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้และโอกาสในการจ้างงานให้กับสมาชิกชุมชนไปพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรรมอันดีงามของท้องถิ่น
ชุมชนต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในโครงการนี้มีจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนบางใบไม้ ชุมชนคลองน้อย ชุมชนลีเล็ด ชุมชนพุมเรียง ชุมชนท่าฉาง และชุมชนเลม็ด ทั้งหมดเป็นชุมชนชายฝั่งทะเลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและตอบโจทย์กระแสนิยมด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ที่นักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสวิถีชีวิตที่แท้จริงของท้องถิ่นมากขึ้น โดยแต่ละชุมชนมีจุดเด่นอันเป็นเสน่ห์ที่แตกต่างในแบบเฉพาะตน เริ่มต้นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จาก “ดินแดนคลองร้อยสาย” ซึ่งเกิดจากคลองธรรมชาติสาขาแม่น้ำตาปีนับไม่ถ้วน ที่ผู้คนยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม โดยมีชุมชนบางใบไม้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น แม้ความสะดวกของถนนหนทางในปัจจุบันจะทำให้การสัญจรทางเรือลดบทบาทลงไป แต่ที่บ้านบางใบไม้ ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตแบบเนิบช้าและรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวและจาก โดยมีศูนย์รวมการ
แลกเปลี่ยนสินค้าและพบปะสังสรรค์อยู่ที่ตลาดประชารัฐบางใบไม้ นอกจากนี้ยังมี “อุโมงค์จาก” เส้นทางเดินเรือที่สวยงามแปลกตา ถัดไปคือ ชุมชนคลองน้อย ที่มีโรงเรียนฝึกลิงแบบชาวบ้าน และสินค้าหัตถกรรมจากกะลามะพร้าวและใบจาก ที่นี่ยังมีโฮมสเตย์มาตรฐานสำหรับให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
ไม่ไกลจากบริเวณคลองร้อยสาย คือป่าชายเลนของชุมชนลีเล็ด ซึ่งมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง จนถูกขนานนามว่าเป็น “อเมซอนเมืองไทย” ที่นี่นักท่องเที่ยวจะเริ่มพบเห็นวิถีประมงพื้นบ้านที่มีการวางอวนจับปลา การทำปากช้อนเพื่อดักกุ้งเคย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับทำกะปิของดีแห่งบ้านลีเล็ด เมื่อแล่นเรือหางยาวออกสู่ทะเลอ่าวบ้านดอน จะพบกับเกาะเสร็จ เกาะเล็กๆ ที่ชาวชุมชนพุมเรียงใช้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ที่นี่มีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวมากมาย อาทิ การปลูกป่ามะพร้าว การคราดหาหอยตลับ การสาธิตวิธีการทำประมงชายฝั่ง และปิดท้ายด้วยการชิมเมนูเด็ดประจำถิ่นของชาวมุสลิมแห่งพุมเรียง คือ น้ำพริกปูและไข่หมก
ถัดจากพุมเรียงยังมีชุมชนชาวประมงอีกแห่งคือ ชุมชนท่าฉาง ซึ่งเป็นฟาร์มหอยแครงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ชุมชนนี้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจากการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการยกเลิกการลากอวนและเปลี่ยนมาเป็นการทำฟาร์มหอยแบบธรรมชาติแทน ทำให้ทรัพยากรในท้องทะเลไม่ถูกทำลาย ภาพของขนำน้อยใหญ่เรียงรายกลางทะเล ซึ่งส่วนหนึ่งได้เปิดเป็นฟาร์มสเตย์ ให้นักท่องเที่ยวแวะพักมานอนเล่น ตกปลา กินอาหารซีฟู้ดสดๆ อิ่มท้องกันแล้ว ก่อนกลับแวะซื้อของฝากเลื่องชื่อของสุราษฎร์ธานีที่ชุมชนเลม็ด ว่ากันว่าถ้านึกถึงไข่เค็มไชยาและข้าวหอมไชยา ต้องมาที่นี่เท่านั้น เสร็จแล้วเข้าไปสักการะพระบรมธาตุไชยา หรือจะเผื่อเวลามาปฏิบัติธรรมให้อิ่มบุญกันที่สวนโมกขพลารามของท่านพุทธทาสภิกขุ
“อ่าวไทยเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเชฟรอน เพราะฉะนั้นพี่น้องชาวสุราษฎร์ธานีก็คือเพื่อนบ้านของเรา เราจึงทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ได้เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชนชายฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอนจนเกิดผลเป็นที่น่าพอใจ เราเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนและภาคส่วนต่างๆ และหวังว่าจากชุมชนต้นแบบกลุ่มเล็กๆ จะสามารถขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวในเชิงเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ จนสามารถสร้างรายได้ในครัวเรือน และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น” นางหทัยรัตน์ กล่าวปิดท้าย