สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: NCI) ชี้ผู้หญิงไทยยังเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยกรรมพันธุ์-ความอ้วน-ขาดการออกกำลังกาย แนะเปลี่ยนพฤติกรรมใส่ใจสุขภาพ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งและอัตราการเสียชีวิต พร้อมเดินหน้าส่งเสริมการวิจัยสร้างสรรค์นวัตกรรมดูแลสุขภาพยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย รับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยปัจจุบันยังถือว่าน่าเป็นห่วง จำนวนผู้ป่วยมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย
โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 120,000 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกว่า 60,000 ราย โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในเพศหญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่
ส่วนโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ถึงประมาณ 3.5% ต่อปี
ทั้งนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า มะเร็งบางชนิดที่สามารถป้องกันหรือคัดกรองได้ และเคยเป็นปัญหามากในอดีต เช่น มะเร็งปากมดลูกที่มีการคัดกรองเพื่อหาเชื้อมะเร็งด้วยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) อย่างต่อเนื่อง หรือมะเร็งตับจากไวรัสตับอักเสบบี ที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มลดลง ขณะที่มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน โรคมะเร็งเต้านมได้กลายมาเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศหญิง จากเดิมที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้ สถิติสาธารณสุขจากทะเบียนมะเร็งประเทศไทย ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ในปีพ.ศ. 2554 พบว่ามีสตรีไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่จำนวน 12,613 ราย หรือ 34.5 รายต่อวัน คิดเป็นอัตราป่วย 28.5 รายต่อประชากรแสนคน โดยในปี 2557 มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเสียชีวิตจำนวน 3,455 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 10.5 ราย โดยผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุ มีความเสี่ยง ที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ทุกคน แต่ในกลุ่มที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างชัดเจนและช่วงอายุที่พบอุบัติการณ์การเป็นมะเร็งเต้านมสูงสุดคือระหว่าง 50-55 ปี โดยมีอัตราป่วยสูงประมาณ
95 รายต่อประชากรแสนคน สืบเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งอายุที่เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมการบริโภคที่เน้นไขมันสูง ภาวะอ้วน การดื่มแอลกอฮอล์ การไม่ออกกำลังกาย รวมถึงปัจจัยทางพันธุกรรม
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่เสียชีวิต มักมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งเต้านมได้ลุกลามและแพร่กระจายแล้ว คือ มีก้อนขนาดใหญ่และมีแผลที่เต้านม หรือมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลจากหัวนม หากค้นพบเร็วก็จะสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษา นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้ว ก็ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติ และตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน สำหรับหญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป นอกเหนือจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้ว ควรเพิ่มการตรวจเต้านมกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อยทุก3 ปี และเพิ่มเป็นทุกปีเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควบคู่กับการตรวจเอกซเรย์เต้านม
สำหรับการควบคุมโรคมะเร็งในยุคประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนานั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยโรคมะเร็งมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านกว้างเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายสาธารณะ และในเชิงลึกเพื่อให้เกิดนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยที่จะช่วยยกระดับสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในโครงการวิจัยที่มีศักยภาพขณะนี้ คือ งานวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการคัดกรองมะเร็งเต้านมจากการตรวจเลือดซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา อีกทั้งต้องใช้เงินทุนจำนวนมากจึงเปิดรับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากภาคเอกชนร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง อาทิ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในสตรี “วาโก้” และบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มอบเงินทุนสนับสนุนแก่สถาบันมะเร็งแห่งชาติมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ภายใต้โครงการ “วาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม” รวมเป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาทต่อปี ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการให้ผู้หญิงไทยห่างไกลและปลอดภัยจากโรคมะเร็งเต้านม
Comments
comments