ทาทา สตีล เนรมิตห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตนักเรียนด้อยโอกาส หนุนการศึกษาไทย 4.0
การเตรียมความพร้อมให้กับทรัพยากรมนุษย์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศไทยในยุค 4.0 สิ่งสำคัญที่สุดหนีไม่พ้นเรื่อง “การศึกษา” ที่เป็นรากฐานในการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ในประเทศให้พร้อมเผชิญกับการแข่งขันระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังมีโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาด้านการศึกษาอีกจำนวนไม่น้อย ภาคเอกชนหลายแห่งจึงได้เข้ามาให้การสนับสนุน อาทิ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ริเริ่มโครงการมุมหนังสือ “เสริมปัญญา กับ ทาทา สตีล” แห่งแรกในปี พ.ศ. 2552 ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า “การศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กและเยาวชนให้เป็นพลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศและเสริมสร้างความมั่นคงของชาติในอนาคต”
นายศิโรโรตม์ เมธมโนศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการมุมหนังสือ “เสริมปัญญา กับ ทาทา สตีล” เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่พันธกิจหลักเพื่อชุมชนและสังคม โดยบริษัทฯ จะจัดทำมุมหนังสือในห้องสมุดโรงเรียนพร้อมมอบหนังสือและสื่อการเรียนรู้ให้แก่โรงเรียน เริ่มต้นที่โรงเรียนในชุมชนรอบโรงงาน แล้วขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายที่จะมอบมุมหนังสือจำนวนรวม 400 โรงเรียน ในปัจจุบันสามารถมอบมุมหนังสือไปแล้วกว่า 248 โรงเรียน ใน 52จังหวัด
มุมหนังสือ “เสริมปัญญา กับ ทาทา สตีล” มีพื้นที่ 20 ตารางเมตร ประกอบด้วยชั้นวางหนังสือสำเร็จรูป พร้อมหนังสือ 200 เล่ม ใน 7กลุ่มสาระการเรียนรู้ อาทิ วิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษา พลศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รวมถึงบอร์ดกิจกรรมตอบปัญหาประจำสัปดาห์หรือกิจกรรมกระตุ้นการอ่าน
โดยบริษัทฯ จะส่งของรางวัลให้แก่นักเรียนที่ร่วมกิจกรรมและนักเรียนที่ยืมหนังสือในมุมหนังสือของ ทาทา สตีล เป็นประจำ เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยรู้จักคิด วิเคราะห์ กล้าคิด กล้าตอบ รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และที่สำคัญคือรู้จักกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ มุมหนังสือยังมีโต๊ะเก้าอี้ รวมถึงมีการทาสีตกแต่งผนัง เพื่อสร้างบรรยากาศให้เด็กๆ รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการอ่านหนังสือ และเข้ามาใช้บริการมุมหนังสืออย่างต่อเนื่อง โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องส่งรายงานการใช้ห้องสมุดให้กับบริษัททุกเดือน เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางการจัดหาหนังสือให้เหมาะสมและปรับปรุงมุมหนังสือให้มีคุณภาพมากขึ้น
คุณครูสุชา บุญเพิ่ม โรงเรียนบ้านต้นไทร จังหวัดพัทลุง หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากได้รับมอบมุมหนังสือของทาทา สตีล ว่า “ก่อนหน้านี้โรงเรียนมีห้องสมุดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล หนังสือที่มีอยู่จึงไม่เหมาะสมกับวัย ทำให้เด็กๆ ไม่ค่อยอยากเข้ามาใช้บริการห้องสมุด
กิจกรรมช่วงพักกลางวันหรือหลังเลิกเรียนส่วนใหญ่จึงเป็นการวิ่งเล่น หรือเล่นกีฬาตามประสาเด็กต่างจังหวัด แต่หลังจากที่โรงเรียนได้มีมุมหนังสือสวยๆ ด้วยการสนับสนุนของ ทาทา สตีล เด็กนักเรียนของเรามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจน มีการเข้าใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น ทั้งการอ่านในเวลาและการยืมหนังสือกลับบ้าน นักเรียนรุ่นพี่ก็ได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการเป็นบรรณารักษ์รุ่นเยาว์ รู้จักการจัดประเภทหนังสือตามหมวดหมู่ และดูแลรักษาหนังสือราวกับว่าหนังสือเล่มนั้นมีชีวิต ครูจึงอยากให้มีโครงการดีๆ แบบนี้ในโรงเรียนด้อยโอกาสอื่นๆ เช่นเดียวกัน”
น้องณิชาภัทร ชูเอียด นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าถึงความประทับใจเกี่ยวกับมุมหนังสือของ ทาทา สตีล ว่า “หนูดีใจมากที่โรงเรียนของหนูได้มุมอ่านหนังสือใหม่ที่มีหนังสือน่าอ่านมากมายที่จะช่วยทำให้หนูเก่งมากขึ้น หนูชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ เพราะหนูมีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นแอร์โฮสเตส การอ่านหนังสือทำให้หนูได้ฝึกภาษาอังกฤษ และเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่จากที่ต่างๆ ในโลก
นอกจากนี้การอ่านหนังสือในมุมหนังสือนี้ยังช่วยให้หนูได้ฝึกสมาธิและมีระเบียบมากขึ้น เพราะเมื่ออ่านหนังสือเสร็จต้องเก็บให้เป็นหมวดหมู่ และต้องอ่านอย่างทะนุถนอมเพื่อน้องๆ รุ่นต่อไปจะได้มีหนังสือดีๆ อ่าน หนูต้องขอขอบคุณพี่ๆ จาก ทาทา สตีล ที่มาเนรมิตห้องสมุดของหนูให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนชีวิตหนูและทำให้ความฝันของหนูเป็นจริงได้ค่ะ”
ปัจจุบันยังมีโรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดแคลนแหล่งข้อมูลให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาหาความรู้ ความไม่พร้อมในด้านต่างๆ เหล่านี้ อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น การไม่รู้หนังสือ การติดสารเสพติด การขาดความรู้สำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต โครงการสร้างมุมหนังสือ “เสริมปัญญา กับ ทาทา สตีล” จึงนับว่าเป็นพลังเล็กๆ ในการผลักดันให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนเพื่อเยาวชนไทย