กรุงศรี ออโต้ สร้าง Smart SMEs ติดปีกผู้ประกอบการด้วยความรู้ธุรกิจดิจิทัล
ปัจจุบันโลกอยู่ในยุคดิจิทัลที่ผู้บริโภค หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อสื่อสาร ค้นหาข้อมูล เลือกซื้อสินค้า ตลอดจนทำธุรกรรมการเงินมากขึ้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ระบุว่าการซื้อขายสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต หรือ e-Commerce ของไทยในปี 2559 มีมูลค่าสูงถึง 40% ของมูลค่าการซื้อขายสินค้าและบริการทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12.42% และมีแนวโน้มที่จะโตเกิน 50% ในอนาคตอันใกล้ ช่องทางดิจิทัลจึงเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจที่รู้เท่าทัน และสามารถปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไปนี้ได้
จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอี (SMEs) จำนวนทั้งสิ้นกว่า 2.76 ล้านราย มีรายได้คิดเป็น 42% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ดียังคงมีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่ขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันต่อกระแสผู้บริโภคยุคใหม่ เนื่องจากไม่มีทักษะ ความเข้าใจ รวมไปถึงแรงบันดาลใจในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอดธุรกิจ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ ส่งผลให้ธุรกิจอาจหยุดชะงักและจำต้องล้มเลิกกิจการลง ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกอบการเหล่านี้มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ในมือ
ด้วยเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันต่อการแข่งขันและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป กรุงศรี ออโต้ จึงได้จัดงานสัมมนา “กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์” ในหัวข้อ ‘ติดอาวุธดิจิทัล Small SMEs’ ขึ้น
นำร่องที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเชิญกูรูทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ต่อยอดทางธุรกิจ มาให้ข้อมูล ความรู้ และจุดประกายความคิดในการทำธุรกิจยุคดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น
ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “หนึ่งใน ‘เมกะเทรนด์’ หรือกระแสหลักที่ภาคธุรกิจในปัจจุบันให้ความสำคัญ คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เพียงปลายนิ้วสัมผัสบนจอสมาร์ตโฟนและดีไวซ์ต่าง ๆ ผู้บริโภคจึงหันมาค้นหาและเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้วยเหตุนี้การทำธุรกิจผ่านช่องทางออฟไลน์แต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถรองรับพฤติกรรม ความต้องการ และเข้าถึงผู้บริโภคที่หลากหลายนี้ได้ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จในโลกปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายย่อยก็ต้องหันมาเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับเมกะเทรนด์นี้เช่นกัน
เราจึงจัดงานสัมมนากรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์ ในหัวข้อ ‘ติดอาวุธดิจิทัล Small SMEs’ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อต่อยอดธุรกิจของตน ก้าวสู่การเป็น ‘Smart SMEs’ ที่มีการนำช่องทางออนไลน์มาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้านโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อปฏิรูปประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยที่แข็งแกร่งจะเป็นรากฐานสำคัญให้ยุทธศาสตร์นี้บรรลุเป้าหมายได้”
ในฐานะเจ้าหน้าที่ภาครัฐในท้องถิ่น พสิษฐ์ พรหมภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเสริมว่า “พระนครศรีอยุธยานับเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติไทยมาแต่โบราณ
นับเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้ประกอบการในการนำมาใช้ต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่กรุงศรี ออโต้ เล็งเห็นความสำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้จัดงานสัมมนานำร่องขึ้นที่นี่เพื่อจุดประกายและแนะแนวทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ได้นำเอกลักษณ์ของจังหวัดมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจ ควบคู่ไปกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น”
สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ เจ้าของ ‘เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery’ เพจเฟซบุ๊กจำหน่ายปูและอาหารทะเลซึ่งมียอดขายกว่า 10 ล้านบาท ต่อเดือน เปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จว่า
“เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จของธุรกิจ เจคิว ปูม้านึ่งซึ่งไม่มีหน้าร้าน แต่ลูกค้าสามารถเข้าถึงเจคิวฯ ได้ด้วยช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line@ หรือ YouTube โดยการนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัลจะต้องมีความชัดเจน สามารถสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าได้ว่าสินค้ามีคุณภาพตรงตามที่ได้นำเสนอไว้
รวมไปถึงเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าร้านหลักของบริษัทฯ ภาพที่โพสต์ลงเพจจะต้องมีความสวยงาม แต่เรียบง่าย และไม่ดูเกินจริง ขณะเดียวกันการเพิ่มช่องทางชำระค่าบริการผ่านระบบออนไลน์และบัตรเครดิต ยังเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าขึ้นอีกขั้น
ประกอบกับการรักษาคุณภาพของอาหารและบริการจนลูกค้าไว้วางใจและกลับมาใช้บริการอีก นับเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของเจคิวปูม้านึ่ง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผู้ประกอบการจะต้องกล้าลุกขึ้นมาทำ”
เช่นเดียวกับ มัทนี วงศ์ศิริ เจ้าของกิจการ ผ้าซิ่นฝ้ายมัดหมี่ By Mattanee อดีตพนักงานบริษัทที่ผันตัวมาทำธุรกิจผ่านแพลทฟอร์มดิจิทัลอย่างจริงจัง ได้แลกเปลี่ยนว่า “ในตอนแรกที่ทำธุรกิจ ทางร้านยังไม่ลงทุนสต็อกสินค้า แต่จะใช้วิธียืมผ้าซิ่นมาถ่ายรูปและประกาศขายผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก
โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแม่บ้านและนักธุรกิจหญิงที่มีความหลงใหลในผ้าซิ่นเหมือนตน เมื่อมีผู้สั่งจึงจะไปซื้อผ้าผืนนั้น หลังจากสินค้าเริ่มติดตลาดภายในเวลาเพียงครึ่งปี จึงได้ศึกษาการทำโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เพิ่มเติม ทั้ง Facebook, YouTube และ Line@
โดยจุดแข็งของบริษัทฯ คือผลิตภัณฑ์ผ้าซิ่นฝ้ายมัดหมี่ที่มีคุณภาพ ผ่านการตัดเย็บและการทอที่เป็นเอกลักษณ์และประณีตบรรจงของชาวอีสาน ซึ่งทั้งร้านจะมีเพียงผืนเดียว ภายใต้สโลแกน ‘ผ้าซิ่นจะเป็นผู้เลือกเจ้าของเอง’ ประกอบกับการรับประกันสินค้าทุกชิ้น และความรวดเร็วในการบริการด้วยทีมงานมืออาชีพที่พร้อมตอบคำถามตลอด 24 ชั่วโมง
และพร้อมจัดส่งสินค้าและติดตามสถานะจนกว่าสินค้าจะถึงมือของลูกค้า ทำให้ผ้าซิ่นฝ้ายมัดหมี่ By Mattanee มีความแตกต่าง และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องพร้อม ๆ ไปกับคุณค่าที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่คู่แข่งไม่อาจเทียบได้”
เสกสรร เทิดสิริภัทร อดีตครูผู้หันมาจับธุรกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัวในฐานะเจ้าของ YouTube Channel เสกสรร ปั้น YouTube ที่มียอดผู้ติดตาม (subscriber) มากกว่าหนึ่งแสนราย ได้แนะนำถึงเทคนิคการสร้างวีดีโอลง YouTube ให้มียอดการเติบโตของผู้ชมโดยไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณา (organic growth)
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้จากสื่อออนไลน์ “การอัพโหลดวีดีโอลง YouTube สามารถสร้างรายได้ได้หลายทาง อาทิ รายได้จากโฆษณา รายได้จากการใช้โปรโมทสินค้า และรายได้จากการสร้างคอนเทนต์เพื่อขายสินค้าและบริการภายหลังจากเป็นที่รู้จักและมียอดผู้ชมติดตามเป็นจำนวนมากแล้ว
โดยเคล็ดลับในการสร้างความนิยมใน Channel ของเรานั้น วิดีโอที่เราอัพโหลดลง YouTube จะต้องประกอบด้วย 3ส คือ 1) สาระที่สามารถให้ประโยชน์และความรู้แก่ผู้ชม 2) สนุกจนสามารถดึงดูดให้ผู้ชมดูจนจบ และ 3) สม่ำเสมอในการอัพโหลดวีดีโอใหม่ๆ ให้ได้ติดตามกัน
แต่ทั้งนี้แล้ว ในการทำธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัล ผู้ประกอบการจะต้องดึงศักยภาพของแต่ละแพลตฟอร์มมาใช้สร้างจุดเด่นให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้วย”
“โครงการ ‘กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์’เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่เรามุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อจุดประกายความคิดให้ผู้ประกอบการได้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ
รวมไปถึงสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา จากการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของโครงการตลอดแปดปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง เราพบว่ามากกว่า 80% ของผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้ไปใช้ในการวางแผนทางธุรกิจ และนำเครือข่ายผู้ประกอบการที่ได้จากภายในงานไปต่อยอดเชิงธุรกิจได้
เช่นเดียวกับครั้งนี้ เราพบว่าผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 90% พึงพอใจกับการจัดงานและความรู้ที่ได้รับ พร้อมให้ความเห็นว่าโครงการนี้ไม่เพียงให้ความรู้เชิงทฤษฎี แต่ยังจุดประกายความคิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มองไปข้างหน้าเพื่อค้นหาโอกาสอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันเรายังพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยด้วยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องและต่อยอดทางธุรกิจต่อไป” ไพโรจน์กล่าวทิ้งท้าย