BMW ร่วมกับ มจธ. สนับสนุนประเทศไทยเดินหน้าสู่อนาคตแห่งความยั่งยืน
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อผนึกกำลังกันศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบการใช้ยานพาหนะร่วมกัน (Car Sharing) ในประเทศไทย ภายใต้โครงการ “Electric Vehicle Charging and Car Sharing Zones” หรือ Charge & Share ที่มหาวิทยาลัยฯ จัดขึ้น
โดยบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ได้นำรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าโดยสมบูรณ์และปราศจากการปล่อยไอเสีย พร้อมด้วยรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด บีเอ็มดับเบิลยู 330e และบีเอ็มดับเบิลยู X5 xDrive40e มาให้ทางมหาวิทยาลัยนำไปทดลองใช้ในโครงการดังกล่าว
เพื่อศึกษาลักษณะการใช้งานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย และระบบ Car Sharing ของประเทศไทยในอนาคต
สเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของบีเอ็มดับเบิลยูคือ ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ยนตรกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยและดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ ความสำเร็จของเราจึงสะท้อนอยู่ในนวัตกรรมการขับเคลื่อน
ทั้งในระบบไฟฟ้าโดยสมบูรณ์และในระบบปลั๊กอินไฮบริด พร้อมกันนี้ เราได้ร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับทั้งภาครัฐและพันธมิตรภาคเอกชน ในการต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว ผ่านการสนับสนุนการพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยนตรกรรมไฟฟ้า และการติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ มจธ. ดำเนินโครงการนำร่อง Charge & Share และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำประเทศไทยนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน”
ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ประธานคลัสเตอร์วิจัยยานยนต์ มจธ. กล่าวว่า “Charge & Share เป็นโครงการนำร่องที่มีระยะเวลา 2 ปี ภายใต้ศูนย์ Lo-Ve หรือ Center of Low Carbon Vehicle ในคลัสเตอร์วิจัยยานยนต์ของ มจธ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรั้ว มจธ. ให้เป็นรูปธรรม และเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางมาเป็น Car Sharing เพื่อศึกษาพฤติกรรมของคนไทยในการใช้งานระบบดังกล่าวด้วย”
ดร.วศิน เกียรติโกมล หัวหน้าโครงการ Charge & Share กล่าวว่า “ในโครงการ Charge & Share นั้น มจธ. ได้เปิดสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยมีรถยนต์ให้บริการในรูปแบบ Car Sharing ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้า บีเอ็มดับเบิลยู i3 จากบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ซึ่งบุคลากรของมหาวิทยาลัยจะนำไปใช้ในงานราชการ พร้อมเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่
เพื่อศึกษาลักษณะการใช้งาน รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่กับการศึกษาพฤติกรรมของคนไทยในการใช้บริการระบบ Car Sharing และ EV Car Sharing
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และระบบ Car Sharing ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ในการช่วยบริหารจัดการระบบ Car Sharing ในการจองและคืนรถอีกด้วย”
บีเอ็มดับเบิลยู i3 เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าโดยสมบูรณ์ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งยนตรกรรมระบบไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแท้จริง ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีระบบส่งกำลัง บีเอ็มดับเบิลยู eDrive พร้อมด้วยการออกแบบภายใต้เทคโนโลยี บีเอ็มดับเบิลยู EfficientDynamics จึงไม่เพียงปราศจากการปล่อยไอเสีย
แต่ยังมอบประสบการณ์ความเงียบขณะขับขี่ที่แทบเรียกได้ว่าไร้เสียง ซึ่งทำให้ บีเอ็มดับเบิลยู i3 จึงได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการดีไซน์แห่งปี พ.ศ. 2557 หรือ 2014 World Green Car of the Year และ 2014 World Car Design of the Year
สำหรับรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริดในรุ่น BMW X5 xDrive40e และ BMW 330e นั้น ได้นำพลังของมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้งานได้อย่างคุ้มค่า ช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และสามารถเลือกนำมาขับขี่ในตัวเมืองได้โดยไม่ปล่อยมลภาวะออกจากท่อไอเสีย แบตเตอรี่ของรถสามารถชาร์จได้กับปลั๊กไฟบ้านทั่วไป
โดย BMW X5 xDrive40e จะใช้เวลาชาร์จด้วยไฟบ้านราว 3 ชั่วโมง 50 นาที มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่ 31.3 กิโลเมตรต่อลิตรและลดระดับมลภาวะในการขับขี่กับอัตราการปล่อย CO2 ที่ 76 กรัมต่อกิโลเมตรขณะที่ BMW 330e จะชาร์จไฟได้เต็มในเวลาราว 3 ชั่วโมง
มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ 41.7 กิโลเมตรต่อลิตรและลดระดับมลภาวะในการขับขี่กับอัตราการปล่อย CO2 ที่ 57 กรัมต่อกิโลเมตรเท่านั้น