สสส. เผยผลสำรวจพบเด็กไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งค่อนข้างสูง
สสส. ผนึกเครือข่ายนานาชาติ เผยผลสำรวจ Report Card ในการประชุม ISPAH 2016 เป็นครั้งแรก พบเด็ก-เยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายอยู่ระดับปานกลาง แต่เนือยนิ่งค่อนข้างสูง พร้อมจับมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การแก้ปัญหาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพิ่มกิจกรรมทางกายระดับชาติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ The Active Healthy Kids Global Alliance นำเสนอผลการศึกษาโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย (Thailand Report Card on Physical Activity for Children and Youth) และแลกเปลี่ยนผลสำรวจกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนกับอีก 38 ประเทศทั่วโลก ตามกระบวนการ Global Matrix 2.0 ในการประชุมนานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) หรือ ISPAH 2016 ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
โดยมี ศ.ดร. มาร์ค เทรมเบล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิถีชีวิตสุขภาพและโรคอ้วน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. และ ผศ.ดร. เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ พร้อมด้วย นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดี กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ นายสนิท แย้มเกษร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแถลงข่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอจำเป็นต่อประชากรทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะวัยเด็กอายุตั้งแต่ 6-17 ปี ที่กำลังมีพัฒนาทางร่ายการพร้อมๆ กับพัฒนาการทางสมอง ที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยยังขาดการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอต่อสุขภาพ และมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary) คือการนั่งนิ่งอยู่กับที่ถึงวันละ 13 ชั่วโมง 35 นาที
ในขณะที่มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักตามข้อเสนอระดับสากลไม่ถึงวันละ 60 นาที เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการศึกษาโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย หรือ ReportCard ที่มีการเผยแพร่เป็นครั้งแรก ในการประชุม ISPAH 2016 เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะนำผลการสำรวจและข้อเปรียบเทียบนี้มาใช้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ เพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอต่อการมีสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวชนไทยต่อไป
“สสส. โดยแผนกิจกรรมทางกาย มียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญคือ ผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยตั้งเป้าภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประชากรในช่วงวัยนี้ และภายในปี 2562 ลดจำนวนผู้มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยมุ่งส่งเสริมให้มีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย รวมถึงพัฒนางานวิชาการ งานวิจัยด้านกิจกรรมทางกายสู่เวทีนานาชาติ” ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าว
ศ.ดร. มาร์ค เทรมเบล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิถีชีวิตสุขภาพและโรคอ้วน ผู้ริเริ่มโครงการ Report Card จากประเทศแคนาดา กล่าวว่าปัญหาการขาดกิจกรรมทางกายไม่ได้เกิดเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทั้งโลก นำมาสู่การคิดริเริ่มกระบวนการสำรวจและสังเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกาย ภายใต้โครงการวิจัย Report Card ครั้งแรกที่ประเทศแคนาดาในปี 2548 จากโครงการนี้ส่งผลให้เกิดพลังขับเคลื่อนในเชิงนโยบายเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศแคนาดาอย่างมาก
ต่อมาโครงการวิจัย Report Card นี้ได้นำไปดำเนินการสำรวจในอีก 15 ประเทศ และร่วมนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติด้านกิจกรรมทางกายเมื่อปี 2557 ที่เมืองโตรอนโต แคนาดา จากนั้นประเทศไทย โดย สสส.จึงรับโครงการนี้มาดำเนินการสำรวจในประเทศไทย และนำเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบผลการสำรวจกับอีก 38 ประเทศทั่วโลกในการประชุมนานาชาติด้านกิจกรรมทางกาย ISPAH 2016 นี้
ด้าน ผศ.ดร. เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ โดยการสนับสนุนของ สสส. เปิดเผยถึงรายงานผลการสำรวจสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทย ปี 2559 ว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียนอายุ 6-17 ปี จำนวน 16,788 คน จาก 336 โรงเรียนใน 27 จังหวัด 9 ภูมิภาคทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร สรุปได้ว่า ค่าเฉลี่ยการมีกิจกรรมทางกายของเด็กไทยอยู่ระดับปานกลาง หรืออยู่ระดับเกรด C แต่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งค่อนข้างสูง
ซึ่งการสำรวจครั้งนี้พิจารณาจากตัวชี้วัด 9 ด้าน โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยหลักของไทยทั่วประเทศและองค์กรภาครัฐ ดังนี้
1. ด้านการมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวัน ประเมินจากการมีกิจกรรมทางกายรวมแล้วมากกว่า 60 นาทีต่อวัน ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ อยู่ระดับเกรดD-
2. ด้านการมีโอกาสเข้าร่วมเป็นผู้เล่นในกิจกรรมการแข่งขันกีฬา อยู่ระดับเกรด C
3. ด้านการเล่นที่ได้ออกแรง (เล่นกลางแจ้ง) อยู่ระดับเกรด F
4. ด้านพฤติกรรมเนือยนิ่ง (นั่งนิ่งเป็นเวลานาน ๆ) อยู่ระดับเกรด D-
5. ด้านการเดินทางที่ได้ใช้แรงกาย (การเดิน ขี่จักรยาน) อยู่ระดับเกรด B
6. ด้านการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อน อยู่ระดับเกรด B
7. ด้านนโยบายโรงเรียนที่สนับสนุนให้มีกิจกรรมทางกาย อยู่ระดับเกรด C
8. ด้านการสนับสนุนของชุมชนและการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้เล่นกีฬา/ออกกำลังกาย อยู่ระดับเกรด C
9. ด้านยุทธศาสตร์และการลงทุนภาครัฐ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนอยู่ระดับเกรด C ทั้งนี้ ผลที่ได้จากโครงการสำรวจReport Card จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งร่วมเป็นภาคียุทธศาสตร์กับ สสส.มาโดยตลอด
จะนำไปใช้เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอสำหรับเด็กและเยาวชนไทยให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพทางสังคม และสติปัญญา พร้อมที่จะเป็นผู้รับภาระในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในอนาคตอย่างเต็มศักยภาพต่อไป