web analytics

ติดต่อเรา

สถาบันสุขภาพเด็กฯ ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรภาครัฐที่รณรงค์เนื่องใน “วันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ๒๕ พฤศจิกายน” โดยจัดอบรมพ่อแม่และเด็กให้มีความเข้าใจถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่มีส่วนสำคัญในการสร้างพื้นฐานอันแข็งแกร่งของสุขภาพร่างกายและจิตใจของเด็กไทย

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า “รพ.เด็กนับเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการด้านการดูแลรักษาเด็กอย่างครบวงจร มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับเด็กเกือบทุกสาขา โดยเปิดให้บริการกว่า ๖๐ ปี และได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ตามพันธกิจที่ต้องเพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาโรคยุ่งยากซับซ้อน การฝึกอบรม และงานวิจัย

ซึ่งให้บริการผู้ป่วยเด็กแบบผู้ป่วยนอกประมาณกว่า ๓๗๐,๐๐๐ รายต่อปี ผู้ป่วยใน ๑๗,๐๐๐ รายต่อปี และรับส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคยุ่งยากซับซ้อนจากโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยค้นคว้า พัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการบริการรักษาที่มีคุณภาพ และการเอาใจใส่ความต้องการของผู้ป่วยเด็กและครอบครัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก”

เนื่องด้วยสถิติความรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่า การใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีเพิ่มขึ้นถึง ๓ หมื่นราย จากเดิมในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ ๒๘,๐๐๐ ราย โดยแบ่งเป็นเด็กกว่า ๑๙,๐๐๐ ราย เป็นเด็กผู้หญิงอายุเฉลี่ย ๑๐-๑๕ ถึงร้อยละ ๙๐ เป็นเรื่องการกระทำรุนแรงต่อร่างกาย อาทิ กักขัง บังคับ ทุบตี เป็นอันดับหนึ่ง และคดีทางเพศ ทั้งข่มขืน กระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ เป็นอันดับสอง

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี ทั่วโลกจึงจัดให้เป็น “วันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กสากล” ประเทศไทยได้เห็นความสำคัญเช่นกันจึงมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ ให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

ในการนี้ทางสถาบันฯ ที่ให้ความสำคัญต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงมีการจัดบริการ “ศูนย์พึ่งได้” เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำทารุณทางร่างกาย ทางเพศ หรือจิตใจมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน ในแต่ละปีมีผู้รับบริการ ๑๐๐ – ๒๐๐ ราย นั่นหมายถึง ทุก ๒ วันจะมีเด็กที่ประสบเหตุดังกล่าว ไม่ต่ำกว่า ๑ ราย สถิติดังกล่าวเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของความจริงในสังคมไทยเท่านั้น จากสถิติดังกล่าว

คลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น สถาบันฯ อาสาเป็นองค์กรหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจของเด็กให้กับพ่อแม่ได้เข้าใจ เพื่อที่จะดูแลเลี้ยงดูให้เติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ เพื่อลดปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็กมิติต่าง ๆ ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวที่คุมคามเด็ก ๆ ในปัจจุบัน จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็ก เพื่อให้เข้าใจถึงพื้นฐานความต้องการของเด็ก ภายใต้หัวข้อ “เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้(น็อต)หลุด”

ผศ.พ.ญ.ปราณี เมืองน้อย กุมารแพทย์-จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าวว่า “ปกติน็อตสกรูเป็นตัวที่ช่วยยึดวัสดุให้มีความมั่นคง ทนทานต่อการใช้งาน เปรียบได้เหมือนการเลี้ยงลูกที่จะต้องให้ครอบครัวและลูกมีรากฐานการพัฒนาทางจิตใจที่มั่นคง

โดยต้องอาศัยหลากหลายเทคนิคที่เหมือนน็อตสกรูมาช่วยอาการ “น็อตหลุด” เปรียบได้เหมือนการที่คนเราใจร้อนทำอะไรออกไปโดยไม่ยั้งคิด ทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเองและผู้อื่น ดังที่เราเห็นข่าวในสื่อต่าง ๆ มากมาย ที่คนเราทะเลาะหรือทำร้ายร่างกายกัน อาการน็อตหลุด ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับอารมณ์โกรธ หงุดหงิด

ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวมักเกิดจากการที่ตนเองไม่ได้อย่างที่หวัง เช่นเด็ก ๆ หวังให้พ่อแม่เข้าใจ แต่เมื่อโดนห้ามไม่ให้ทำสิ่งต่าง ๆ ก่อให้เด็กเกิดอารมณ์หงุดหงิดไม่ได้ดังใจ จึงอาละวาด นั่นก็ถือเป็นอาการน็อตหลุด ตั้งแต่วัยเด็ก อาการเหล่านี้จะดีขึ้นได้ หากพ่อแม่เลี้ยงลูกและฝึกการควบคุมอารมณ์เด็กอย่างถูกวิธี หลักง่าย ๆ คือการฝึกอีคิวเด็กนั่นเอง

อีคิวหรือเชาวน์อารมณ์คือการที่คนเราสามารถรู้อารมณ์ตัวเอง มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นเพราะรับรู้อารมณ์คนอื่นได้ นำไปสู่ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม จนทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จโดยมีทักษะทางอารมณ์และสังคมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสมควบคู่กันไป หากผู้ใดมีอีคิวดีจะช่วยเสริมให้ใช้สติปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นั่นคือเป็นคนที่ทั้งฉลาดและน่าคบหา เป็นที่รัก ใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้ ทำให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิต ต่างกับกลุ่มคนที่เก่งแต่เพื่อน ๆ เบื่อนิสัย ในที่สุดก็จะไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้และขาดความสุขในชีวิต

หลักในการฝึกอีคิวตั้งแต่เล็กๆ ดังนี้

๑. สอนให้ลูกรู้จักเรียกอารมณ์แต่ละแบบให้ถูกต้อง โดยพ่อแม่เป็นผู้บอก เช่น เมื่อเห็นลูกโกรธ อาละวาด อย่าเพิ่งรีบสอนหรือบอกให้หยุด แต่ให้รีบสะท้อน “หนูกำลังโกรธ”

๒. สอนให้ลูกเข้าอกเข้าใจ เห็นใจผู้อื่น โดยพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างความมีน้ำใจ ซื้อของฝากเพื่อนบ้านหรือคนในครอบครัว แสดงความรัก ความเห็นใจต่อคนในและนอกครอบครัวตามขอบเขตที่เหมาะสม อาจทำงานการกุศลให้ลูกเห็นและให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรม เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือช่วยเหลือผู้เดือดร้อนด้านต่างๆ

๓. ฝึกลูกให้มีแรงจูงใจสู่ความสำเร็จ โดยการชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่ลูกทำอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการฝึกทักษะการช่วยเหลือตัวเอง หรือการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยตัวเขาเอง จะทำให้ลูกภูมิใจและมองเห็นความสามารถของตัวเขาได้ชัดเจนขึ้น จนเกิดความมั่นใจในตัวเอง มีจุดมุ่งหมายในชีวิตไปสู่ความสำเร็จ

๔. ผู้ใหญ่ที่ฝึกเด็ก จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองและฝึกอีคิวไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เด็ก

๕. ในช่วงที่มีความโกรธ ควรปล่อยให้เด็กได้ระบายความโกรธอย่างเหมาะสม โดยยังไม่ตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ เช่นอนุญาตให้เด็กร้องไห้เสียงดังได้ แต่ไม่อนุญาตให้ระบายความโกรธแบบที่ทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นเจ็บตัว และต้องไม่ทำลายข้าวของ เมื่อความโกรธของเด็กผ่านพ้นไปแล้ว ควรปลอบโยน ชักชวนเขาไปทำกิจกรรมปกติ เมื่อสงบไปอีกสักระยะ จึงจะมานั่งพูดคุยและสอนแนวทางการแสดงออกที่เหมาะสม จึงจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *