เยาวชนเจนเอ พาน้องรักษ์น้ำสานต่องานของพ่อ !
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเน้นย้ำในเรื่องการรักญาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำด้วยทรงมองเห็นว่า “น้ำคือชีวิต”
จุดนี้เองได้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีย์อนุสรณ์ ริเริ่มโครงการเยาวชนอนุรักษ์คูคลองประเวศ (Prawet Youth for Canal Conservation : PYCC) เพื่อจัดการปัญหาน้ำเน่าเสียในคูคลองประเวศอย่างเป็นระบบภายใต้บริบทของชุมชน
ใช้หลักบูรณาการร่วมกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน โดยมีเยาวชนในโครงการเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน ทำหน้าที่ขยายผลความรู้และนวัตกรรมสู่วัด โรงเรียนเครือข่าย และชุมชนในพื้นที่สร้างเครือข่ายความร่วมมือโดยยึดหลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
“เยาวชนอนุรักษ์คูคลองประเวศ” เป็น 1 ใน 28 โครงการจิตอาสาภายใต้โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทยประจำปี 2559 Gen A : Empower Active Citizen “พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ”
ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อเฟ้นหาโครงการจิตอาสาจากเยาวชนทั่วประเทศที่จะมาร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้น
ภาณุเดช หอมยี่สุ่น หรือ น้องมิกซ์ นักเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีย์อนุสรณ์ หัวหน้าโครงการเยาวชนอนุรักษ์คูคลองประเวศ เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า “ผมเกิดและโตที่ริมคลองประเวศ ตอนผมยังเป็นเด็กน้ำในคลองใสสะอาดผมยังเคยไปกระโดดน้ำในคลองเล่นกับเพื่อน ๆ จำได้ว่าความรู้สึกตอนนั้นสนุกมาก แต่ในปัจจุบันคลองประเทศที่เคยใสสะอาดเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นน้ำที่เต็มไปด้วยขยะ มีสีดำคล้ำ และส่งกลิ่นเหม็น
สิ่งเหล่านี้ได้ทำลายความสุขสมัยเด็ก ๆ ของผมไปจนหมดสิ้นเพียงเพราะความมักง่ายของมนุษย์แค่ไม่กี่คนแต่มันกลับส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ไปในวงกว้าง เพราะน้ำในคูคลองประเวศจะไหลไปบรรจบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงคนไทยทุกคน เมื่อเส้นเลือดใหญ่เน่าเสียแน่นอนว่าระบบอื่น ๆ ของร่างกายจะทรุดโทรมลงไปด้วย
ผมอยากเห็นคูคลองกลับมาดีขึ้นเหมือนเดิมเพื่อให้ลูกหลานของผมได้เกิดมาเห็นแม่น้ำลำคลองที่สะอาดสวยงาม แม้มันจะใช้ระยะเวลานานกว่าจะสำเร็จ แต่ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรเลยความฝันนั้นก็จะไม่มีวันเป็นจริงแน่นอน ผมและสมาชิกในโครงการ และเพื่อน ๆ ในโรงเรียนกว่า 170 คน จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการเยาวชนอนุรักษ์คูคลองประเวศ โดยเริ่มจากเข้าไปจัดกิจกรรมกรวดน้ำอีเอ็ม กิจกรรมยิงอีเอ็มบอล และติดตั้งถังอีเอ็มระบบหยด ในวัดที่อยู่ติดริมคลองประเวศ จำนวน 9 วัด
เนื่องจากมีแนวคิดว่าวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยจึงใช้วัดเป็นจุดดึงดูดให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกในการดูแลแม่น้ำลำคลองมากขึ้น ในส่วนของโรงเรียนเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของโครงการ สำหรับโรงเรียนที่อยู่ติดคลองประเวศมีทั้งหมด 6 โรงเรียน
โดยกิจกรรมสำหรับโรงเรียนแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 4 ฐาน คือ การทำน้ำอีเอ็ม การทำอีเอ็มบอล การทำถังดักไขมัน และการทำถังน้ำอีเอ็มระบบหยด ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะได้นำไปต่อยอดใช้จริงภายในโรงเรียนและชุมชน โดยจะมีการกำกับติดตามผลเป็นระยะ สำหรับเป้าหมายของโครงการมีแนวคิดที่จะขยายผลสร้างโมเดลต้นแบบการอนุรักษ์คูคลองตั้งแต่เขตประเวศ ไปจนสุดเขตกรุงเทพมหานคร โดยอยากเห็นทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อส่วนรวมและอนาคตที่ดีของประเทศไทย
สำหรับผลตอบรับของโครงการนี้ “น้องเตย” หรือ เด็กหญิงศสิญา เทพหัสดิน ณ อยุธยา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดกระทุ่มเสือปลาหนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายของโครงการเยาวชนอนุรักษ์คูคลองประเวศ บอกว่า
“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการจัดกิจกรรมของพี่ ๆ ที่เข้ามาในโรงเรียน คือ การเรียนรู้วิธีอนุรักษ์แม่น้ำลำคลองด้วยการใช้น้ำอีเอ็มซึ่งสามารถทำได้ด้วยการนำกากผลไม้ที่เป็นกรด อย่างเช่น เปลือกสับปะรด หรือเปลือกส้ม มาหมักเพื่อให้เกิดจุลินทรีย์สามารถนำไปใช้บำบัดน้ำเสียได้ เป็นการนำขยะที่เหลือทิ้งมาแปรรูปสร้างประโยชน์ ช่วยทำให้สภาพแวดล้อมของโรงเรียนและชุมชนดีขึ้น น้ำในคลองรอบโรงเรียนก็ไม่เน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นแบบทุกวันนี้ค่ะ”
ด้านอาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการของโรงเรียนวัดกระทุ่มเสือปลา อาจารย์วีรนันท์ กิจนุเคราะห์ เล่าว่า โรงเรียนวัดกระทุ่มเสือปลาได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Eco School) ซึ่งมีทั้งหมด 16 โรงเรียน ในเขตประเวศ
โดยแต่ละโรงเรียนจะมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะกับโรงเรียนของตน อย่างโรงเรียนวัดกระทุ่มเสือปลาจะเน้นการจัดการขยะในโรงเรียนเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ ส่วนในปีการศึกษา 2559 นี้ ก็จะเน้นในเรื่องการอนุรักษ์คูคลอง โดยทำงานเป็นเครือข่ายโดยมีพี่ ๆ แกนนำจากโรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีย์อนุสรณ์นำน้องทำกิจกรรมและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
สำหรับความคาดหวังของโครงการคือการปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมกับภูมินิเวศน์หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ โดยมุ่งเน้นให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ถึงปัญหาที่พบเจอ รู้จักการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง และขยายผลไปสู่ครอบครัว นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในอนาคต
พลังความมุ่งมั่นของเยาวชนในการคิดแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างเป็นระบบ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศไม่ได้สูญเปล่า แต่ยังมีแรงขับเคลื่อนเล็ก ๆ จากเยาวชนที่มุ่งมั่นและพร้อมจะสืบสานงานของท่านด้วยหัวใจอาสา เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ ประชาชนเป็นสุขอย่างยั่งยืน