web analytics

ติดต่อเรา

เปลี่ยนซาเล้งเก็บขยะเป็นฮีโร่กอบกู้โลก… ส่งสารสร้างสรรค์สังคมรีไซเคิล

“ขยะจะมีค่าถ้านำมารีไซเคิล” และ “หมดค่าของเขามีค่าของเรา” เป็นประโยคส่วนหนึ่งที่กลั่นกรองมาจากความรู้สึกของนิสิตภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับคนเก็บของเก่า และถ่ายทอดลงบนรถซาเล้งที่พวกเขาได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงและตกแต่ง

เพื่อเป็นสื่อปลุกจิตสำนึกและสร้างกระแสให้สังคมหันมาใส่ใจการรีไซเคิลมากขึ้น โดยซาเล้งทั้งสิ้น 12 คันที่ได้รับการตกแต่งใหม่เป็นผลงานสร้างสรรค์จากโครงการ ‘REAL RECYCLER รักษ์โลกจริง เลิกทิ้งเลิกเท’ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของเอ็ม บี เค กรุ๊ป กรุงเทพมหานคร มูลนิธิ 3R และภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อรณรงค์การจัดการขยะอย่างยั่งยืน

สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “งบประมาณส่วนใหญ่ของสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครใช้ไปกับการกำจัดขยะ มีการคำนวณไว้ว่าขยะทุก ๆ 1 กิโลกรัม ทางกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจำกัดขยะ 2 บาท โดยประมาณการแล้วเราใช้งบในการกำจัดขยะถึง 6 พันล้านบาทต่อปี เราจึงพยายามส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันลดปริมาณขยะลง”

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าขยะในประเทศไทยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิลนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการคัดแยกและรีไซเคิลผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

โดยศูนย์วัสดุรีไซเคิลชุมชน ธนาคารขยะรีไซเคิล ขายให้ผู้รับซื้อของเก่าหรือซาเล้ง และร้านรับซื้อของเก่า จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้รับซื้อของเก่าเป็นกลุ่มอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการคัดแยกขยะของประเทศไทยตั้งแต่ต้นทาง และนำขยะกลับเข้ามาสู่ระบบรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศิรฐา สุขสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความพยายามในการผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นว่า “เอ็ม บี เค กรุ๊ป เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นส่งมอบความสุขให้แก่ลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์และบริการตามแนวคิด ‘ความสุขของทุกวัย’ ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม โดยเฉพาะชุมชมและสังคม

ซึ่งโครงการ “REAL RECYCLER รักษ์โลกจริง เลิกทิ้ง เลิกเท” เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงปัญหาขยะที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เราจึงต้องการปลุกกระแสสังคมให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ และนำขยะมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่

โดยหวังว่าโครงการนี้นอกจากจะช่วยจุดประกายชุมชนและสังคมเกี่ยวกับการรีไซเคิลแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนเก็บของเก่าหรือซาเล้ง ในการเป็นฮีโร่กอบกู้โลกและเป็นนักรีไซเคิลตัวจริง พร้อมยกระดับงานเก็บของเก่าในฐานะอาชีพที่มีคุณค่าและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการรีไซเคิลของไทยด้วย”

ขณะที่ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่าแนวคิดของนักออกแบบคล้ายคลึงกับการทำงานของเหล่าซาเล้งเก็บของเก่า เพราะมองเห็นโอกาสเดียวกันว่าขยะสามารถสร้างประโยชน์ได้

“สมัยก่อนเวลาเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่มีใครนึกถึงนักออกแบบ แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เอง เห็นโอกาสเดียวกันกับซาเล้งว่าขยะสามารถสร้างประโยชน์ และสร้างสรรค์ออกมาเป็นศิลปะแบบกรีนดีไซน์ได้

อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือลดขยะอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมาก เช่น เศษจากการผลิตกระดุมนำมาบดทำเป็นพื้น เศษไม้ตัดต่อออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ เศษกันชนรถเป็นเก้าอี้นั่งในสวน ส่วนกากกาแฟก็พัฒนาเป็นกระเบื้องและผนัง”

หลังจากเปิดตัวโครงการ เหล่ารถซาเล้งที่ได้รับการตกแต่งจะได้นำออกไปใช้งานจริง เช่น บัมเบิ้ลบีซาเล้ง ซึ่งทำด้วยโครงเหล็กสีเหลืองที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรถหุ่นยนต์จากภาพยนตร์ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส เป็นผลงานการออกแบบของ สิรินทร์ เจียมพิรุฬห์กิจ และ อานนท์ พุ่มอิน นิสิตชั้นปีที่ 1 จะขับไปตามตรอกซอกซอยเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับนักรีไซเคิลตัวจริงอย่างซาเล้งเก็บขยะไปสู่คนในชุมชน

ซึ่งพวกเขาทั้งคู่กล่าวว่า “กลุ่มซาเล้งเป็นฟันเฟืองสำคัญของกระบวนการรีไซเคิล และเป็นกลุ่มคนที่ทำให้ขยะมีค่าขึ้นมาอีกครั้ง พวกเราจึงเลือกเศษเหล็กเหลือใช้มาทำโครงสร้างของรถ โดยนำรูปลักษณะและความแข็งแรงมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับหน้าที่ของรถในแต่ละส่วน เช่น การนำเศษที่เหลือจากการตัดแผ่นเหล็กดำลายมาพับทำในส่วนพื้นรถที่ต้องรับน้ำหนัก กันน้ำ และทนแดด

การใช้หน้าปัดเข็มไมล์รถยนต์มาทำเป็นไฟหน้ารถ หรือจานเบรคมาทำเป็นที่นั่งที่สามารถใช้คู่กับตะขอเกี่ยวของได้” พร้อมจบชิ้นงานด้วยสโลแกนที่สะท้อนการทำงานของซาเล้งว่า ‘หมดค่าของเขามีค่าของเรา’

ส่วน วริศรา สันตโยดม และ กฤษฏ์สกนธ์ ทนังผล นิสิตชั้นปีที่ 1 ผู้ออกแบบ BAMBINO ซาเล้งที่ตกแต่งด้วยไม้ไผ่ โดยเพิ่มความน่าสนใจด้วยการใส่เทคนิคให้หลังคาที่นำมาสานในรูปแบบ “Hyperbolic Paraboloid”

นอกจากเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงแล้ว หลังคายังสามารถปลูกพรรณไม้เลื้อยได้อีกด้วย ทั้งคู่กล่าวว่า “พวกเราได้แรงบันดาลใจมาจากคอนเซ็ปต์ ‘อีโค ไม่ อีโก้’ (ECO NOT EGO) ด้วยการแสดงความเป็นอีโคผ่านรูปร่างและลักษณะการใช้งานของรถ และไม่อีโก้มาจากการที่ซาเล้งไม่มีอีโก้ สามารถทำงานเก็บขยะ ซึ่งถือเป็นอาชีพสุจริต นำขยะและของเหลือใช้ไปขายต่อให้โรงงานเพื่อนำไปรีไซเคิล”

นอกจากการปรับลุคซาเล้งให้สวยงามทันสมัยเพื่อเป็นสื่อในการปลุกจิตสำนึกให้สังคมหันมาใส่ใจการรีไซเคิล แล้ว เอ็ม บี เค กรุ๊ป ยังจัดทำคลิปวิดีโอ ‘ทิ้งไว้ให้ใคร’ ซึ่งสร้างขึ้นจากชีวิตจริงของนักเก็บขยะมืออาชีพตัวจริงอย่างซาเล้ง

“กรุงเทพมหานครพยายามส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันลดปริมาณขยะลง เราทำงานร่วมกับเอกชนก็เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้โครงการ เอกชนมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างจุดเปลี่ยนในสังคม เราคุยเรื่องการแยกขยะมานานก็ยังเปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคมได้ไม่มากนัก แต่คลิปวิดีโอ ‘ทิ้งไว้ให้ใคร’ สื่อสารได้ชัดเจนผ่านการถ่ายทอดความคิดของซาเล้งเก็บขยะผู้เป็นกลไกสำคัญในการนำขยะเข้ากระบวนการรีไซเคิล

คลิปเพียงไม่กี่นาทีนี้จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชมที่มีต่อซาเล้ง และจุดประกายให้สังคมเห็นว่าขยะเป็นทรัพยากรที่มีค่า” สุวรรณา กล่าวเพิ่มเติม

 

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *